เลขที่ : 0210
ประเภทพระเครื่อง : พระกริ่ง
ชื่อพระเครื่อง : พระกริ่งวัดช้าง สมเด็จพระสังฆราชแพ
สถานะ (ให้ชม/เช่าบูชา) :
ข้อมูลของพระเครื่อง : พระกริ่งวัดช้าง หรือ พระกริ่งอุดผงพระเกศาสมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศนเทพวราราม จ.กรุงเทพมหานคร ปี 2484
พระกริ่งวัดช้าง หรือที่คนรุ่นเก่าเรียกว่า "พระกริ่งอุดผงพระเกศา" มีมูลเหตุจัดสร้างโดยดำริของอาจารย์หนู (นิรันตร์ แดงวิจิตร) ซึ่งขณะนั้นท่านได้อุปสมบทอยู่ที่วัดสุทัศน์ พื้นเพเดิมท่านเป็นคนบ้านนา จ.นครนายก ท่านเห็นว่าวัดช้างยังไม่มีสถานศึกษาให้ความรู้แก่กุลบุตร-กุลธิดา ท่านจึงประทานขอพระอนุญาตจากสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ให้ทรงเป็นประธานสร้างพระกริ่งรุ่นนี้ เพื่อหาทุนในการสร้างโรงเรียน เมื่อพ.ศ.๒๔๘๔ โดยมี เจ้าคุณศรี (สนธิ์) เป็นแม่งานในการจัดพิธีเททอง
สมัยอาจารย์หนูยังมีชีวิตอยู่ ได้เล่าให้ฟังว่า พระกริ่งรุ่นนี้ที่แตกต่างจากพระกริ่งรุ่นอื่นๆ ก็คือเป็นการเทหล่อแบบตัน แล้วนำมาเจาะรู ๒ ชั้น ขนาดเท่าแท่งดินสอชั้นแรกและขนาดเท่าใส่ดินสอชั้นใน ซึ่งถือเป็นพระกริ่งของสมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศน์รุ่นแรก ที่เทตันแล้วนำมาเจาะรูที่ก้นภายหลัง โดยการเจาะรูชั้นในเพื่อบรรจุผงพุทธคุณ ๑๐๘ พร้อมทั้งเส้นพระเกศาของสมเด็จพระสังฆราช (แพ) แล้วอุดรูก่อนชั้นหนึ่ง จากนั้นบรรจุเม็ดกริ่งในรูชั้นนอกแล้วจึงอุดก้นด้วยทองชนวนเป็นสุดท้าย
พระกริ่งรุ่นนี้ประกอบพิธีเททอง ณ วัดสุทัศน์ฯ เมื่อวันเพ็ญเดือน ๑๒ ในการฉลองพระชนมายุสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ตรงกับวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๔ หล่อพร้อมกับพระกริ่งพุทธนิมิต องค์พระกริ่งเป็นเนื้อโลหะแบบผสม ออกสีเหลืองอมแดง ผิวกลับเป็นสีน้ำตาลอ่อน พระกริ่งวัดช้างที่ใต้ฐานสังเกตดูจะเห็นว่ามีรอยการอุดที่ใต้ฐานขนาดเขื่องเท่าแท่งดินสอดำทุกองค์ เมื่อเขย่าดูเสียงกริ่งจะดังทึบๆ
เนื่องจากด้านในที่บรรจุเม็ดกริ่งมีพื้นที่น้อย เพราะมีการบรรจุผงวิเศษและเส้นพระเกศาของสมเด็จพระสังฆราช (แพ) เส้นจีวร องค์พระกริ่งทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มีการแต่งมือตอกเป็นเม็ดไข่ปลาพระกริ่งวัดช้างเป็นพระกริ่งที่ทรงคุณค่าน่าบูชามาก มีการสร้างในครั้งนี้ ๔๐๐ องค์ นำออกหาทุนที่วัดช้าง ๓๐๐ องค์ ที่เหลืออีก ๑๐๐ องค์ แจกที่วัดสุทัศน์จึงเป็นจำนวนการสร้างที่น้อยมาก ในการสร้างพระกริ่งวัดช้างสมัยนั้น ยังมีการสร้างพระชัยวัดช้างด้วย จำนวนการสร้าง ๑,๕๐๐ องค์ เป็นพิมพ์สมาธิ
เหตุผลที่ทำให้วัดช้างโด่งดังเกี่ยวกับตำนานการสร้างพระกริ่งและพระชัยด้วยเหตุผล ๕ ประการคือ
๑.ก้านช่อชนวนพระกริ่งรุ่นเก่าๆ ของสมเด็จพระสังฆราช(แพ)วัดสุทัศน์ทั้งหมดท่านอาจารย์หนูได้นำไปถวายพระอาจารย์ต๊ะ (พระหลานชาย) อดีตเจ้าอาวาสวัดช้าง
๒.ชื่อเสียงอันโด่งดังของพระกริ่งวัดช้างซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดของอาจารย์หนูปรมาจารย์การแต่งพระกริ่งไทย
๓.คัมภีร์ตำราพระคาถาการจารพระยันต์ในการสร้างพระกริ่งของสมเด็จพระสังฆราช (แพ) นั้น ท่านอาจารย์หนูได้นำมาคัดลอกเก็บไว้ที่วัดช้างแห่งนี้
๔.เจ้าอาวาสวัดช้างทุกรูปได้อนุรักษ์ประเพณีพิธีการสร้างพระกริ่งสืบทอดมาตลอดเป็นประจำ
๕.เจ้าอาวาสวัดช้างทุกรูปล้วนเป็นพระเถระหรือเป็นพระเกจิอาจารย์ดังซึ่งมีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมาก
(ที่มา : ไตรเทพ ไกรงู, คม ชัด ลึก, พระกริ่งวัดช้างกว่า๗๐ปี แห่งตำนานดังพระเครื่องของเมืองไทย, 23 ก.ค. 2556)
พระสมเด็จพระสังฆราชแพ วัดสุทัศน์เทพวราราม