เลขที่ : 0218
ประเภทพระเครื่อง : พระกริ่ง
ชื่อพระเครื่อง : พระกริ่งคลองตะเคียน พิมพ์สองหน้า
สถานะ (ให้ชม/เช่าบูชา) :
ข้อมูลของพระเครื่อง : พระกริ่งคลองตะเคียน พิมพ์สองหน้า สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา ค้นพบที่บริเวณตำบลคลองตะเคียน อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พระกริ่งคลองตะเคียน สุดยอดพระกริ่งเนื้อดิน แห่งเมืองกรุงเก่า
“พระกริ่งคลองตะเคียน หนึ่งในพระยอดนิยมแห่งเมืองกรุงเก่า ที่มีความแปลกแตกต่างจากพระกริ่งโดยทั่วไป ที่มักสร้างเป็นพระเนื้อโลหะ แต่สำหรับ ‘พระกริ่งคลองตะเคียน’ จะเป็นพระกริ่งเนื้อดิน ผสมผงใบลาน ว่าน 108 มวลสารศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ และเกสรดอกไม้มงคล แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของพระกริ่ง คือ ด้านในองค์พระทุกองค์จะกลวง และมีการบรรจุเม็ดกริ่งเข้าไป เวลาเขย่าจะเกิดเสียงดังเช่นเดียวกัน ด้านพุทธคุณนั้นเป็นเลิศเป็นที่ปรากฏ โดยเฉพาะด้านเงี้ยวงา จนโบราณจารย์ มีคำเปรียบเปรยไว้ว่า ... หน้าใหญ่ ไหล่ยก อกต่ำ ผิวดำสนิท กันเขี้ยวขออสรพิษ ต้องคลองตะเคียน”
ขึ้นชื่อว่า "พระกริ่ง" ทุกคนมักเข้าใจไปว่าต้องเป็นพระเนื้อโลหะที่ด้านในกลวง และบรรจุเม็ดกริ่งไว้ เมื่อเขย่าแล้วจะเกิดเสียง ตาม ‘ตำราพระกริ่ง’ ที่มีมาแต่โบร่ำโบราณ แต่พระกริ่งที่จะกล่าวถึงนี้ เป็นพระกริ่งที่แปลกแตกต่าง เพราะเป็นพระกริ่งที่สร้างจากเนื้อดิน นั่นคือ "พระกริ่งคลองตะเคียน" พระเครื่องเก่าแก่ของเมืองกรุงเก่า ที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
เป็นที่ทราบกันดีว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ราชธานีเก่าแก่ของไทยนั้น ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘เมืองพระ’ เป็นแหล่งกำเนิดพระกรุและพระเครื่องต่างๆ มากมายมาแต่โบราณ ซึ่งล้วนขึ้นชื่อลือชาทั้งด้านพุทธลักษณะและพุทธคุณ เป็นที่นิยมสะสมและแสวงหาจากสาธุชนทั่วประเทศ
พระกริ่งคลองตะเคียน มีแหล่งกำเนิดอยู่ที่บริเวณตำบลคลองตะเคียน อำเภอพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นตำบลเก่าแก่ที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เป็นชุมชนของชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูที่มาทำการค้าในอยุธยา ใช้เป็นที่พำนักอาศัย ตำบลคลองตะเคียนจะมีลำคลองใหญ่ ซึ่งในอดีตเคยมีต้นตะเคียนขนาดใหญ่ขึ้นอยู่บริเวณปากคลองด้านทิศตะวันออก จึงเรียกคลองนี้ว่า ‘คลองตะเคียน’ และได้เรียกชื่อตำบลตามชื่อลำคลองว่า “ตำบลคลองตะเคียน” ต่อมา
พุทธลักษณะพิมพ์ทรง
พระกริ่งคลองตะเคียน มีการแตกกรุครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยพบองค์พระกระจายอยู่ทั่วไป และบริเวณวัดประดู่ ที่เรียกขานว่า "พระกริ่ง" คงเป็นด้วยลักษณะขององค์พระซึ่งเมื่อเขย่าแล้วจะเกิดเสียงดัง ส่วนคำว่า "คลองตะเคียน" คือแหล่งกำเนิดที่พบองค์พระครั้งแรกนั่นเอง
ลักษณะเป็นพระเนื้อดินเผา ที่มีกรรมวิธีการสร้างที่ซับซ้อนและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เนื้อขององค์พระจะมีความแกร่งและมันหนึก เนื้อหามวลสารประกอบด้วยเนื้อดินเป็นหลัก นำมาผสมกับผงใบลาน, ว่าน 108, มวลสารศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ และ เกสรดอกไม้มงคล แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของพระกริ่ง คือ ด้านในขององค์พระทุกองค์จะกลวง และมีการบรรจุเม็ดกริ่งเข้าไป ทำให้เวลาเขย่าจะเกิดเสียงดังเช่นเดียวกัน
พระกริ่งคลองตะเคียน นับเป็นพระที่มีพุทธลักษณะงดงาม แลดูเข้มขลัง องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย เหนืออาสนะฐานสูง ภายใต้ต้นโพธิ์ มีใบโพธิ์ปกคลุมเป็นร่มเงาคล้ายๆ กับ ‘พระคง ลำพูน’ มียอดเป็นปลีสูง พระพักตร์กลมนูน ไม่ปรากฏรายละเอียด พระเนตร พระนาสิก และพระโอษฐ์ ส่วนด้านหลังเป็นหลังอูม และมียันต์อักขระจาร บางองค์ก็สร้างเป็นองค์พระทั้งด้านหน้าและด้านหลัง แต่ทุกองค์จะต้องมี ‘อักขระ’ จารอยู่ทั้งสิ้น
ที่มา : อาจารย์ราม วัชรประดิษฐ์, แฟนพันธุ์แท้พระเครื่อง, www.arjanram.com/ .