เลขที่ : 0628
ประเภทพระเครื่อง : พระเนื้อชินยอดนิยม
ชื่อพระเครื่อง : พระท่ามะปราง เนื้อชินเงิน กำแพงเพชร
สถานะ(ให้เช่าบูชา/โชว์) :
ข้อมูลของพระเครื่อง : พระท่ามะปราง กรุวัดบรมธาตุ เนื้อชินเงิน จ.กำแพงเพชร
พระท่ามะปราง กรุวัดท่ามะปราง จ.พิษณุโลก ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดก่อนกรุอื่นๆ ทั้งใน จ.พิษณุโลก และจังหวัดอื่นๆ ดังนั้นพระเครื่องสกุลนี้ของกรุอื่นๆ ที่ขุดพบขึ้นมาได้ภายหลัง จึงเรียกชื่อตามชื่อของกรุแรกที่ขุดพบว่า พระท่ามะปราง ทั้งสิ้น อาทิ ของ จ.พิษณุโลก มี พระท่ามะปราง กรุวัดพระศรีมหาธาตุ, กรุวัดสะตือ, กรุเจดีย์ยอดทอง, ส่วนของจังหวัดอื่นก็มี พระท่ามะปราง กรุสำปะซิว จ.สุพรรณบุรี, พระท่ามะปราง กรุมะละกอ จ.พิจิตร, พระท่ามะปราง จ.สุโขทัย, พระท่ามะปราง จ.เพชรบูรณ์, พระท่ามะปราง กรุบ้านตาก
แต่ที่นับว่าพิมพ์องค์พระสวยงามที่สุด ต้องยกให้ พระท่ามะปราง ของ จ.กำแพงเพชร ซึ่งขุดพบจากหลายกรุ ที่สำคัญคือ กรุวัดบรมธาตุ กรุวัดอาวาสน้อย กรุวัดกะโลทัย กรุวัดพิกุล และกรุวัดสี่อิริยาบถ
พระท่ามะปราง จ.กำแพงเพชร เป็นพระสกุลช่างศิลปะสุโขทัยแบบวัดตะกวน มีหลายเนื้อ อาทิ ชินเงิน ดิน ว่าน และสนิมแดง โดยเฉพาะพระเนื้อชินเงิน พบมากกว่าเนื้อชนิดอื่น และเป็นที่นิยมสูง
พุทธลักษณะ เป็นพระพิมพ์ทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว องค์พระปฏิมาประทับนั่ง ปางมารวิชัยอยู่กึ่งกลาง พระหัตถ์ซ้ายแสดงพระอังคุฐ (นิ้วหัวแม่มือ) ชัดเจน นิ้วพระหัตถ์อีกสี่นิ้วหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาทรงวางชิดพระชานุแบบที่เรียกว่า “เข่าใน” แสดงง่ามพระอังคุฐ และนิ้วพระหัตถ์อีก ๔ นิ้ว ยาวเสมอกันลงมาจนจรดพระอาสนะ ซึ่งเป็นแบบลายขีด ลายคล้ายสามเหลี่ยมฟันปลาเล็กๆ ที่เรียงตามแนวตั้งเต็มฐาน ที่ทรงประทับ ใต้อาสนะที่เป็นลายขีดสวยงามนี้ ยังรองรับด้วยบัวเล็บช้างอีกห้าดอก (ตรงกลางเป็นดอกใหญ่) ซึ่งแทรกด้วยขีดคล้ายกลีบเล็กๆ อีกสี่ดอก ดูสวยงามวิจิตรบรรจงด้วยพุทธศิลป์
รอบองค์พระเป็นซุ้มขีดนูนทรงสามเหลี่ยม จนเห็นเป็นมิติแบบรางเลือน พระเกศไม่มีไรพระศก ปรากฏเห็นพระศกเป็นแบบเม็ดกลมใหญ่ เป็นแถวเรียงซ้อนกัน ๔ ชั้นลดหลั่นขึ้นไปด้านบน ที่ตรงปลายเป็นเกศเปลวเพลิงแหลมยาวขึ้นไปอย่างลงตัวสวยงาม
พระพิมพ์นี้มีพระพักตร์เป็นแบบผลมะตูมผ่าซีก มีความอิ่มเอิบ คมชัดทุกอย่าง แบบสกุลช่างสุโขทัย พระเนตรมีร่องขอบพระเนตร ดวงพระเนตรเป็นแบบเม็ดข้าวสารยาวรีชัดเจน พระเนตรซ้ายขององค์พระจะต่ำกว่าพระเนตรขวามาก (ระดับพระเนตรที่ต่างกันนี้ ใช้ในการพิจารณาแบบพิมพ์ว่า เป็นพิมพ์ของเมืองกำแพงเพชร)
พระนาสิกนูนสูง คล้ายผลชมพู่ผ่าซีก พระโอษฐ์ปรากฏเห็นชัดเจนทั้งบนและล่าง พระวรกายล่ำสันสมบูรณ์ มีเส้นสังฆาฏิพาดเฉียงลงมาที่พระอุทร เหนือพระนาภีชัดเจน ที่สำคัญมีจุดคล้ายรอยยุบเป็นจุดตาย ให้สังเกตอีกจุดหนึ่ง เกิดจากการที่แม่พิมพ์เกิดมีเนื้อตุ่มเกินในแบบแม่พิมพ์ จึงทำให้องค์พระทุกองค์เกิดรอยบุ๋มที่ระหว่างรักแร้ข้างซ้าย ส่วนด้านหลังองค์พระเป็นลายผ้าแบบค่อนข้างหยาบ บางองค์ไม่มีลายผ้าก็มี
พุทธคุณ ดีเยี่ยมด้านแคล้วคลาด และโดดเด่นทางอยู่ยงคงกระพันเป็นเลิศ สมกับเป็นพระเครื่องที่อยู่ในสกุลพระท่ามะปราง ที่มีต้นตำรับเป็นพระเครื่องที่มีประสบการณ์มากมาย จนได้นามกิตติคุณตามพุทธานุภาพอันเนื่องมาจากสมรภูมิ เมื่อครั้งกองทัพไทยเดินทางไปรบทางหัวเมืองภาคเหนือ เพื่อปราบ “เงี้ยว” ทหารไทยที่แขวนพระสกุลนี้ เมื่อโดนยิงแล้วไม่เป็นอันตราย จนพวกเงี้ยวต้องทิ้งปืนวิ่งหนี จึงได้ฉายาว่า “เงี้ยวทิ้งปืน”
ที่มา : ชาติ วิศิษฏ์สรอรรถ, Komchadluek, www.komchadluek.net/ , พระท่ามะปราง กรุวัดบรมธาตุ เนื้อชินเงิน จ.กำแพงเพชร, โพสต์ 15 กันยายน 2554.