เลขที่ : 0645 พิมพ์อกนูนใหญ่
เลขที่ : 0860 พิมพ์เข่าโค้ง
ประเภทพระเครื่อง : พระเนื้อดิน
ชื่อพระเครื่อง : พระนางพญา กรุวัดนางพญา
สถานะ(ให้เช่าบูชา/โชว์) :
ข้อมูลของพระเครื่อง : พระนางพญา กรุวัดนางพญา จ.พิษณุโลก
พระนางพญา เป็นพระพุทธปฏิมาในรูปทรงสามเหลี่ยม ประทับนั่งปางมารวิชัย ทรวดทรงองค์เอวอ่อนหวานละมุนละไมและงามสง่า
วัดนางพญา จ.พิษณุโลก ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือ ‘วัดใหญ่’ และ วัดราชบูรณะ เป็นแหล่งค้นพบพระเครื่องพิมพ์สำคัญ “พระนางพญา” 1 ในพระชุดเบญจภาคีที่เลิศเลอค่า ถึงแม้จะเป็นวัดเก่าแก่ที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่เมื่อทราบประวัติความเป็นมาแล้ว ก็นับเป็นหนึ่งวัดสำคัญในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว เพราะ ......
นาม “วัดนางพญา” นั้น สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากชื่อของ พระวิสุทธิกษัตริย์ตรี พระอัครชายาของพระมหาธรรมราชา และพระราชมารดาของพระสุพรรณกัลยา, สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ซึ่งปรากฏหลักฐานว่า ทรงสถาปนาพระอารามแห่งนี้ ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นแม่เมืองสองแคว ในคราวบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชบูรณะราวปี พ.ศ.2090 – 2100 และทรงสร้าง “พระนางพญา” บรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์ตามคติความเชื่อแต่โบราณ กาลต่อมาวัดนี้ถูกทิ้งร้างเป็นเวลานานเนื่องจากศึกสงคราม กระทั่งเมื่อมีการขุดค้นพบ ‘พระนางพญา’ วัดนางพญาจึงกลับมามีชื่อเสียงอีกครั้งหนึ่ง
มูลเหตุอีกประการหนึ่งคือ ถ้าพิจารณาจากพุทธลักษณะจะเห็นได้ว่า องค์พระแทบทุกพิมพ์จะมีความงดงามสง่า โดยจะเน้นบริเวณอกที่ตั้งนูนเด่นและลำแขนทอดอ่อนช้อยคล้ายกับ “อิสสตรี” จึงเรียกกันว่า “นางพญา” และได้รับสมญา “ราชินีแห่งพระเครื่อง” ซึ่งสนับสนุนข้อสันนิษฐานแรกได้เป็นอย่างดี
พระนางพญา มีการขุดพบครั้งแรกในปี พ.ศ.2444 โดยทางวัดดำริสร้างศาลาเล็กๆ ขึ้นบริเวณด้านหน้าของวัด เพื่อเป็นปะรำพิธีในการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองพิษณุโลก เพื่อทอดพระเนตรการหล่อพระพุทธชินราชจำลอง ครั้นพอขุดหลุมจะลงเสาก็ได้พบ ‘พระนางพญา’ จำนวนมหาศาลฝังจมดินอยู่กับซากปรักหักพัง จึงได้เก็บรวบรวมไว้ และเมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ไปวัดนางพญา ก็ได้นำพระนางพญาส่วนหนึ่งขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ครานั้นพระองค์ทรงแจกจ่ายแก่ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จกันโดยถ้วนหน้า ดังนั้น พระนางพญาส่วนหนึ่งจึงมีการนำกลับยังกรุงเทพมหานคร
ต่อมาในราวปี พ.ศ.2470 สมัย พระอธิการถนอม เป็นเจ้าอาวาส องค์พระเจดีย์ด้านตะวันออกของวัดได้พังลง ก็ปรากฏพบพระนางพญาอีกจำนวนหนึ่ง ดังบทความที่ “ท่านตรียัมปวาย” ได้เขียนไว้ในหนังสือ “ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ เล่มที่ 2 เรื่อง นางพญาและพระเครื่องสำคัญ ว่า ‘... มีโอกาสได้พบผู้ใหญ่เลี่ยว ปาลิวณิช นักพระเครื่องอาวุโสของจังหวัดพิษณุโลก ท่านเล่าว่า “กรุพระนางพญา” เป็นพระเจดีย์ที่พังทลายฝังจมดินอยู่บริเวณด้านหน้าของวัด ตรงหน้ากุฏิท่านสมภารถนอม มีการขุดพบพระนางพญา ได้พระเป็นจำนวนมาก ในคราวนั้นปรากฏว่า ชาวเมืองพิษณุโลกไม่ได้ให้ความสนใจ ดังนั้น พระนางพญาที่ถูกค้นพบจึงถูกเก็บไว้ที่วัดนางพญา และบางส่วนอาจถูกนำไปบรรจุกรุยังที่อื่นๆ อีกด้วย ...’
ตามประวัติความเป็นมาต่างๆ ของ “พระนางพญา วัดนางพญา” เป็นมูลเหตุสำคัญในการอ้างอิงถึงการพบพระนางพญาในกรุอื่นๆ ที่ จ.พิษณุโลก รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีการพบพระพิมพ์ที่มีเนื้อหาและพิมพ์ทรงแบบเดียวกันกับพระนางพญาจากกรุวัดนางพญาทุกประการในหลายๆ กรุ อาทิ วัดอินทรวิหาร และ วัดเลียบ เป็นต้น สันนิษฐานว่าเป็นพระได้มาในคราวปี พ.ศ.2444 แล้วได้นำมาบรรจุตามกรุพระเจดีย์ต่างๆ ซึ่งจะมีจำนวนมากบ้างน้อยบ้าง และเมื่อผ่านกาลเวลา สภาพองค์พระก็จะแตกต่างกันไปตามสภาพกรุที่บรรจุ
ยังปรากฏหลักฐานจากบันทึกของ ‘ท่านตรียัมปวาย’ ว่ามีการพบพระพิมพ์นางพญากรุวัดนางพญาขึ้นที่กรุวัดอินทรวิหาร กรุงเทพมหานคร จากการสืบสาวเรื่องราวได้พบว่า เป็นนางพญาพิมพ์เดียวกับกรุวัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก พร้อมหลักฐานที่สอดคล้องกัน จากคำจารึกบนแผ่นลานเงิน ลานทอง และลานนาก มีความว่า ‘…พระพิมพ์ที่บรรจุอยู่ในกรุนี้ เป็นพระพิมพ์ที่เอามาจากวัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก ในปี พ.ศ.๒๔๔๔ ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จประพาสจังหวัดพิษณุโลก เพื่อนมัสการพระพุทธชินราชและทอดพระเนตรการหล่อพระพุทธชินราชจำลอง ในวาระดิถีอันเป็นมหามงคลนี้ ได้มีราษฎรผู้จงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท นำพระพิมพ์มาถวายแด่ล้นเกล้าล้นกระหม่อมเป็นอันมาก และเมื่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับไว้ ก็ได้พระราชทานจ่ายแจกแก่พระบรมวงศานุวงศ์และเจ้านายใหญ่น้อย ตลอดจนบรรดาข้าราชบริพารที่ตามเสด็จในครั้งนั้นโดยทั่วถึงกัน และเนื่องจากพระพิมพ์นี้มีจำนวนมาก ส่วนหนึ่งจึงได้มีผู้รวบรวมมาบรรจุไว้ในกรุพระเจีดย์นี้ ...’
พระนางพญา วัดนางพญา เป็นพระเนื้อดินเผา องค์พระจึงมีหลายสีและหลายขนาดตามลักษณะของพระเนื้อดินเผาทั่วไป พุทธศิลปะเป็นศิลปะผสมผสานระหว่างสุโขทัยและอยุธยา พิมพ์ทรงรูปสามเหลี่ยม มีการตัดขอบแม่พิมพ์ด้วยตอกชิดองค์พระ องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย พระเกศเมาลีมีลักษณะคล้ายปลีกล้วย พระหัตถ์ขวาพาดที่พระชานุ (หัวเข่า) พระหัตถ์ซ้ายวางตรงหน้าพระเพลา (หน้าตัก) ในลักษณะอ่อนช้อย ส่วนด้านหลังเป็นหลังเรียบ แต่ด้วยผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน จึงมีรอยเหี่ยวย่นจากการหดตัวของเนื้อมวลสาร โดยสามารถแบ่งแยกพิมพ์ได้ 6 พิมพ์ คือ พิมพ์เข่าโค้ง, พิมพ์เข่าตรง, พิมพ์อกนูนใหญ่, พิมพ์สังฆาฏิ, พิมพ์เทวดา และ พิมพ์อกนูนเล็ก
พระนางพญา วัดนางพญา นับเป็นพระเครื่องที่มีความสำคัญ ที่ปรากฏหลักฐานการสร้างและการค้นพบมาแต่โบราณ และด้วยพุทธลักษณะอันงดงามสง่า กอปรกับพุทธาคมที่ปรากฏเป็นเลิศทั้งเมตตามหานิยม อำนาจวาสนาบารมี และแคล้วคลาด คงกระพันชาตรีครบครันเป็นที่กล่าวขาน จึงได้รับการยอมรับและยกย่องให้เป็นหนึ่งใน “พระชุดเบญจภาคี” สุดยอดพระเครื่องของเมืองไทย ที่ ณ ปัจจุบันเป็นที่ใฝ่ฝันและแสวงหาด้วยค่านิยมที่สูงเอามากๆ ...
ที่มา : อ.ราม วัชรประดิษฐ์, สยามรัฐออนไลน์, ตำนานพระนางพญา วัดนางพญา, โพสต์ 22 กันยายน 2561.