เลขที่ : 0717
ประเภทพระเครื่อง : พระเนื้อผงยอดนิยม
ชื่อพระเครื่อง : พระกรุวัดเงิน คลองเตย
สถานะ (ให้ชม/เช่าบูชา) :
ข้อมูลของพระเครื่อง : พระกรุวัดเงิน คลองเตย พิมพ์พระประธาน
ประวัติพระกรุวัดเงินคลองเตย
"วัดเงิน" ซึ่งเป็นสถานที่ค้นพบพระนั้น ปัจจุบันไม่ปรากฏให้เห็นแล้ว เนื่องจากกลายเป็นที่ตั้งของ "การท่าเรือแห่งประเทศไทย" ไปแล้ว ในอดีตบริเวณการท่าเรือแห่งประเทศไทย หรือท่าเรือคลองเตย เคยเป็นที่ตั้งของวัดสำคัญๆ ถึง ๓ วัด คือ
๑.วัดหน้าพระธาตุ วัดเก่าแก่ ซึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในวัดมีพระเจดีย์องค์ใหญ่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จึงได้ชื่อเรียกตามภาษาชาวบ้านในสมัยนั้น
๒.วัดเงิน สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยชาวรามัญ เศรษฐีสองสามีภรรยา ชื่อนายมะซอน และนาง งิ้ว ทั้งคู่ทำมาค้าขายจนมีฐานะดี แต่ไม่มีทายาทสืบทอดสกุล จึงนำทรัพย์สินเงินทองที่หามาได้ มาสร้างวัดนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ ๒สามีภรรยาโยมอุปัฏฐากวัด เจ้าอาวาสวัดในสมัยนั้น จึงได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดหิรัญสีวลี” ซึ่งแปลว่า “เงิน-งิ้ว”
๓.วัดทองล่าง วัดนี้สร้างหลัง “วัดเงิน” ประมาณ ๗๕-๘๐ ปี แต่เดิมที่ตั้งวัดเป็นสวนของ “นายทอง” ภายในสวนได้มีต้นโพธิ์ขึ้นอยู่ นายทองเห็นว่า “ต้นโพธิ์” เป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนา สมควรจะอยู่ในอาณาเขตวัด นายทองจึงยกที่ดินส่วนนี้สร้างเป็นวัดขึ้น โดยมีท่านสมภาร กระทอ พระภิกษุชาวรามัญ ได้ช่วยกันสร้างเสนาสนะ และพระอุโบสถขึ้น ให้นามวัดนี้ว่า “วัดโพธิ์ทอง” ต่อมานายทองถึงแก่กรรม ทางวัดจึงเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ว่า “วัดทองล่าง” เนื่องจากปรากฏว่า ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางตอนเหนือได้มี “วัดทอง” เกิดขึ้นอีกวัดหนึ่ง เพื่อมิให้ซ้ำกัน
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๐ ทางรัฐบาลต้องการที่ดินบริเวณดังกล่าวเพื่อสร้างท่าเรือกรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นบริเวณที่อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา และมีร่องน้ำลึก จึงต้องเวนคืนที่ดินของวัดทั้ง ๓ วัด
หลังจากนั้น วัดหน้าพระธาตุ และวัดทองล่าง ย้ายไปสร้างใหม่ ที่ตำบลบ้านกล้วย และยุบรวมเป็นวัดเดียวกัน ชื่อว่า "วัดธาตุทอง" ปัจจุบันอยู่ตรงเอกมัย เยื้องสถานีขนส่งเอกมัย (สายตะวันออก)
ส่วนวัดเงิน ได้ย้ายไปอยู่ตรอกจันทน์ ยานนาวา เปลี่ยนนามใหม่ว่า "วัดไผ่เงิน"
การค้นพบ "พระกรุวัดเงิน"
หลังจากมีการเวนคืนที่ดินแล้ว จึงรื้อถอนสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในวัดทั้ง ๓ วัด ที่ “วัดเงิน” ปรากฏว่าพบ "พระเนื้อผง" บรรจุอยู่ในพระเจดีย์หลายองค์ และมีมากมายหลายพิมพ์
แรกเริ่ม “พระกรุวัดเงิน คลองเตย” ที่ค้นพบมีราคา เช่า-ซื้อ ถูกมาก โดยคนงานที่ทำการรื้อ ได้ขนใส่ถุงปูน และปี๊บ นำมาเร่ออกให้เช่าในละแวกนั้น เรียกว่าซื้อเหมาปี๊บละไม่กี่บาท เด็กๆนำมาเล่นทอยกองเหมือนของไร้ค่าก็มี จนสงครามอินโดจีน และสงครามโลกครั้งที่ ๒ ผู้คนต่างแสวงหาพระเครื่องและวัตถุมงคลต่างๆ เพื่อปกป้องชีวิตตนเอง ปรากฏว่าผู้คนที่แขวน พระกรุวัดเงิน คลองเตย ได้ประจักษ์ในพุทธคุณกันทั้งสิ้น ความนิยมสะสมจึงมีมากขึ้น ราคาจึงสูงตามมา
จากการพิจารณาจากเนื้อหามวลสาร ศิลปะสกุลช่าง จำนวนการสร้าง และพิมพ์ทรงแล้ว เป็นศิลปะสกุลช่างราษฎร์ ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น น่าจะต้องเป็นระดับเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน เจ้าขุนมูลนาย หรือไม่ ก็เป็นมหาเศรษฐี ถึงจะมีบุญบารมีในการสร้าง สันนิษฐานว่า พระวัดเงิน คลองเตย น่าจะมีการสร้าง 2 ครั้ง
ครั้งแรก พระน่าจะสร้างในช่วงหลังจากที่สร้างวัดไม่นาน คือประมาณปีพ.ศ.๒๓๐๐ – ๒๓๓๕ โดยสร้างไป แจกไป และส่วนหนึ่งบรรจุในเจดีย์ พระเครื่องชุดนี้จะมีขนาดใหญ่ เนื้อหามวลสารแกร่ง แน่น หนึกนุ่ม เห็นผงเกสรลอยชัดเจน
ครั้งหลัง สร้างขึ้นในช่วงราวสมัยรัชกาลที่ ๔ หรือรัชกาลที่๕ พระชุดหลังสันนิษฐานว่า สร้างสมทบตามหลักพระพุทธศาสนา และบรรจุลงในเจดีย์ เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๓๗
เนื่องจากเป็นพระที่ถูกบรรจุในกรุพระเจดีย์ จึงเป็นพระที่จะมีคราบกรุเกาะตามพื้นผิวขององค์พระ คราบกรุขององค์พระที่อยู่ตอนบน จะมีลักษณะคล้าย "ฟองเต้าหู้" สีเหลืองอมน้ำตาลจับอยู่บนผิว บางองค์มีมากปกคลุมทั่วทั้งองค์พระ บางองค์จับเป็นบางส่วน มีหนาบ้างมีบางบ้าง และฟองเต้าหู้บางจุดจะปะทุฟูตัว ส่วนองค์พระที่อยู่ใต้ๆ ลงไปจะมีคราบกรุจับน้อยมาก บางองค์แทบไม่มีเลย หรือไม่มี “ฟองเต้าหู้” ก็มี อาจมีคราบดินกรุสีน้ำตาลเป็นขุยๆ จับอยู่เป็นหย่อมๆ หรือผิวปะทุเป็นเม็ดเล็กๆ ประปราย
พุทธคุณดีเยี่ยม ในด้านเมตตามหานิยม โชคลาภและแคล้วคลาด "ใครได้มีไว้ จะไม่พบกับคำว่าจน"
(ที่มา : นิตยสาร พระท่าพระจันทร์)