เหรียญหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ รุ่น 2 พ.ศ. 2502


... ...



เลขที่ : 0843
ประเภทพระเครื่อง : พระหลวงปู่ทวด
ชื่อพระเครื่อง : เหรียญหลวงปู่ทวด วัดช้างให้
สถานะ (ให้ชม/เช่าบูชา) :
ข้อมูลของพระเครื่อง : เหรียญหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ รุ่น 2 พ.ศ. 2502 พิมพ์ไข่ปลาใหญ่ ปลุกเสกโดยพระอาจารย์ทิม
ปัจจุบัน เหรียญหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ ทุกรุ่นทุกพิมพ์ ที่ทันยุค พระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ ปลุกเสก ได้รับความนิยมจากบรรดานักสะสมพระเครื่องอย่างกว้างขวาง เรียกได้ว่า อยู่ในลำดับต้นๆ ของประเทศ ทำให้ เหรียญแท้ สภาพสวย หาชมได้ยากยิ่ง
เหรียญหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ มีการสร้างตามรูปทรงเรขาคณิตหลายรูปแบบด้วยกัน อาทิ เหรียญเสมา (รุ่น ๑ และรุ่น ๓ เป็นต้น) เหรียญรูปไข่ (รุ่น ๒ และรุ่น ๔ เป็นต้น) เหรียญห้าเหลี่ยม และเหรียญหกเหลี่ยม ฯลฯ
ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ให้ข้อมูลว่า...เหรียญรุ่น ๒ นี้ประมาณการสร้าง คือ ปี ๒๕๐๒ เป็นเหรียญที่มีจำนวนการสร้างมากพอสมควร แต่ก็ยังน้อยกว่า เหรียญรุ่น ๓ และเช่นเดียวกัน เหรียญรุ่น ๒ มีหลายพิมพ์ และหลายเนื้อ อาทิ เนื้อทองแดงรมดำ หรือลงกะไหล่ (ทองหรือเงิน) หรือผิวไฟ, เนื้ออัลปาก้า, เนื้อนาก และเนื้อทองคำ เป็นต้น รวมทั้งยังมีตัวตัดหลายตัวด้วยกัน เกือบทั้งหมดของเหรียญรุ่น ๒ มีรูปทรงเป็นรูปไข่ ยกเว้นเหรียญพิมพ์สามขีดใน จะมีรูปทรงเป็นรูปเสมา ซึ่งถูกบรรจุเป็นเหรียญรุ่น ๒ และเป็นต้นแบบของเหรียญรุ่น ๓ นั่นเอง เหรียญรุ่น ๒ นี้โดยปกติจะดูเรียบง่าย ไม่มีลายกนก หรือโครงสร้างของเส้นสายบนพื้นเหรียญมากมาย เหมือนเหรียญรุ่น ๓ ทำให้ดูเรียบง่ายและคลาสสิก
เหรียญหลวงพ่อทวด รุ่น ๒ สามารถแยกได้ ๒ พิมพ์หลักๆ คือ พิมพ์ไข่ปลาใหญ่ และ พิมพ์ไข่ปลาเล็ก ซึ่งทั้ง ๒ พิมพ์นี้ยังแยกย่อยออกไปอีกหลายพิมพ์ เช่น พิมพ์ไข่ปลาใหญ่ บล็อกสระไอไม้มลาย (ตรงคำว่า “วัดช้างให้” ซึ่งในเหรียญลงเป็น “วัดช้างไห้”) พิมพ์นี้หายากที่สุด และสนนราคาเช่าหาแพงสุด (หากไม่นับเหรียญเนื้อทองคำ และเนื้อพิเศษอื่นๆ ซึ่งมีน้อยมาก), บล็อกสายฝน, บล็อกพุทธย้อย และบล็อกธรรมดา
ในส่วนของพิมพ์ไข่ปลาเล็ก มีการแยกออกเป็น พิมพ์ไข่ปลาเล็ก บล็อกพุทธย้อยยาว, บล็อกพุทธย้อยสั้น และบล็อกทองคำ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีพิมพ์ที่เพิ่งจะมาเป็นที่ยอมรับกันภายหลัง คือ เหรียญรุ่น ๒ พิมพ์หน้ายักษ์ และเหรียญรุ่น ๒ พิมพ์หน้าหนุ่ม เช่นเดียวกันกับเหรียญรุ่นอื่นๆ เหรียญหลวงพ่อทวด รุ่น ๒ นี้ มีการปั๊มไขว้สลับแม่พิมพ์กัน ดังนั้น จึงเห็นหน้าตาขององค์พระหลายรูปแบบ ทำให้ต่อมาภายหลังมีการแบ่งพิมพ์ (บล็อก) ออกเป็นย่อยๆ ได้อีก สำหรับผู้ที่สนใจการแบ่งบ่งชี้ลักษณะเฉพาะของแต่ละพิมพ์ (นอกเหนือจากข้อมูลที่ทำมาตรฐานกันไว้) ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ได้แนะนำว่า ให้สังเกตที่จุดใหญ่ๆ เช่น เม็ดตา (เช่น พิมพ์ไข่ปลาใหญ่ บล็อกไม้มลาย หลวงพ่อทวดจะมีเม็ดตา แต่พอเป็นบล็อกสายฝน กลับไม่มีเม็ดตา เป็นต้น), เส้นหน้าผาก เส้นเอ็นที่คอ ลูกกระเดือก และลักษณะริ้วจีวร เป็นต้น
(ที่มา : ตาล ตันหยง, คม ชัด ลึก, เหรียญหลวงพ่อทวดรุ่น๒พิมพ์ไข่ปลาใหญ่และพิมพ์ไข่ปลาเล็ก, 13 กรกฎาคม 2557)








Copyright © 2019 Form Webmaster Amuletherritage.
กลับด้านบน