เลขที่ : 0846
ประเภทพระเครื่อง : เครื่องรางของขลัง
ชื่อพระเครื่อง : พระยอดธง สมัยอยุธยา
สถานะ (ให้ชม/เช่าบูชา) :
ข้อมูลของพระเครื่อง : พระยอดธง สมัยอยุธยา
ผู้นิยมพระเครื่องคงจะเคยได้ยินพระที่มีชื่อว่า พระยอดธงกันมาบ้าง มีการค้นพบตามกรุต่างๆ ในสมัยอยุธยา เป็นพระพุทธรูปลอยองค์ขนาดเล็ก และมีเดือยที่ใต้ฐาน จึงมีการเล่าสืบต่อกันมาในยุคหนึ่งว่าเป็นพระที่ใช้สำหรับติดบนยอดธงของกองทัพ เพื่อออกศึกในสมัยกรุงศรีอยุธยายามมีศึกสงคราม
พระยอดธงมีพบอยู่ในกรุพระเจดีย์อยู่หลายๆ กรุ และเป็นพระที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา เช่นพบที่ วัดราชบูรณะ วัดมเหยงคณ์ วัดพระสิงห์ วัดมหาธาตุ เป็นต้น แต่โด่งดังและมีชื่อเสียงมากก็คือ วัดไก่เตี้ย จ.ปทุมธานี มีพบจำนวนมากพอสมควร นอกจากนี้พระยอดธงมีการพบที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ในเจดีย์เช่นกัน ก็เป็นพระที่มีศิลปะสมัยอยุธยาทั้งสิ้น สันนิษฐานว่าคงจะเป็นที่นิยมสร้างกันมากในสมัยนั้น
พระยอดธงเท่าที่สังเกตดูจะทำด้วยเนื้อโลหะ และมีอยู่หลายเนื้อ เช่น เนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อนาก เนื้อสัมฤทธิ์ และเนื้อชิน กรรมวิธีการสร้างด้วยวิธีการหล่อ ซึ่งก็จะมีชนวนสำหรับการเทเนื้อโลหะลงไปในแม่พิมพ์ พระที่สร้างด้วยกรรมวิธีนี้ภายหลังมักจะตัดสายชนวนออกชิดกับองค์พระเพื่อความสวยงาม แต่พระยอดธงในสมัยอยุธยาส่วนมากมักจะไม่ตัดชนวนชิดกับองค์พระ สันนิษฐานว่าคงจะสร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นแกนเสียบกับฐานอีกอันหนึ่ง ซึ่งก็พบพระที่มีฐานประกอบอยู่ด้วยบ้างเหมือนกัน แต่พบน้อย ซึ่งฐานเหล่านี้สร้างด้วยวัสดุหลายอย่าง แต่ก็อาจจะสูญหายกันไป
พระยอดธงส่วนมากที่พบจะเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย ที่เป็นปางสมาธิก็มีบ้าง และที่เป็นพระพุทธรูปยืนปางประทานพร ปางอุ้มบาตรก็มี ด้วยพระยอดธงที่พบตามกรุต่างๆ นั้น คนในสมัยก่อนเห็นว่ามีเดือยยื่นออกมาที่ฐานพระ จึงเดากันว่าเป็นพระที่สำหรับประดับไว้ที่ยอดธงของกองทัพในสมัยโบราณ และในสมัยรัตนโกสินทร์ก็มีการประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ที่ยอดของธงชัยเฉลิมพลประจำกองทัพ พอมาพบพระตามเจดีย์ในสมัยอยุธยาที่มีเดือยใต้ฐาน จึงสันนิษฐานกันเองว่าเป็นพระที่ประดิษฐานที่ธงชัยต่างๆ จึงเรียกกันว่า "พระยอดธง"
พระยอดธงที่มีการพบและทำให้พระยอดธงมีชื่อเสียงก็คือที่เจดีย์กรุวัดไก่เตี้ย ปทุมธานี มีประชาชนได้รับพระไปบูชาและมีประสบการณ์ ต่างๆ ทางด้านอยู่ยงคงกระพัน และแคล้วคลาด จึงทำให้มีชื่อเสียงเล่าขานกันมาก และเป็นที่เสาะหากันในเวลาต่อมา พระของกรุอื่นๆ ที่พบจึงได้รับความนิยมตามมาเช่นกัน อย่างไรก็ตามพระยอดธงก็มีคุณค่าทางด้านศิลปะ ซึ่งเป็นแบบอยุธยา
(ที่มา : แทน ท่าพระจันทร์, ข่าวสด, 30 ตุลาคม พ.ศ. 2558)