เลขที่ : 0932
ประเภทพระเครื่อง : พระเหรียญ พระหล่อ
ชื่อพระเครื่อง : เหรียญหลวงพ่อโต วัดกัลยา 2468
สถานะ (ให้ชม/เช่าบูชา) :
ข้อมูลของพระเครื่อง : เหรียญหลวงพ่อโต(ซำปอกง) วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ปี 2468 จ.กรุงเทพมหานคร เป็นอีกเหรียญ “พระพุทธรูปล้ำค่า” ที่ได้รับความนิยมของนักสะสมพระเครื่อง เหรียญปั๊มรูปองค์หลวงพ่อโตหรือพระพุทธไตรรัตนนายก ประทับนั่งปางมารวิชัย บนอาสนะฐานบัว ๒ ชั้น อยู่ภายในซุ้มเรือนแก้วที่แกะลวดลายเป็นรูปพญานาค ด้านบนเป็นรูปดวงแก้วเปล่งรัศมี และ ข้างเหรียญแกะลายกนกอย่างงดงาม ด้านล่างบอกพ.ศ.๒๔๖๘ ส่วนด้านหลังมีภาษาจีน ๔ ตัว ว่า “ซำปอฮุดกง” มีตัวอักษรไทย”ฤา ฤา”และอักขระขอม” ส่วนขอบข้างเป็นแบบเลื่อยฉลุตัดปีกออก พระสุนทรสมาจาร (พรหม อินฺทโชติ) ได้สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกเมื่อครั้งทำการปฏิสังขรณ์ปิดทององค์พระและฐานพระ พุทธไตรรัตนนายก หลังปฏิสังขรณ์แล้วได้จัดงานสมโภช ระหว่างวันที่ ๑๔-๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เสด็จพระราชดำเนินทรงบรรจุทองอุณาโลมที่พระพักตร์พระพุทธไตรรัตนนายก และทรงปิดทองพระพุทธไตรรัตนนายกหลวงพ่อโต เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ ณ วัดกัลยาณมิตร
“พระพุทธไตรรัตนนายก” หรือ “หลวงพ่อโต” เป็นพระประธานในพระวิหารหลวง วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร หรือที่นิยมเรียกสั้นๆ กันว่า “วัดกัลยาณมิตร” หรือ “วัดกัลยาณ์” ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ในพื้นที่แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ฝั่งตะวันตก วัดแห่งนี้เดิมเป็นแม่น้ำตอนขึ้น ครั้งกรุงธนบุรีเป็นที่จอดแพได้
เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ว่าที่สมุหนายก บุตรพระยาวิชัยวารี (มั่น แซ่อึ่ง) เมื่อครั้งยังเป็น พระราชสุภาวดี เจ้ากรมพระสุรัสวดีกลาง ได้อุทิศที่บ้านและซื้อเพิ่มเติมสร้างเป็นวัดขึ้นเมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๓๖๘ อันเป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๓ แล้วถวายเป็นพระอารามหลวง ต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “วัดกัลยาณมิตร” เหตุที่ชื่อวัดกัลยาณมิตรนั้น กล่าวคือ เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ได้ถวายตัวเป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ และได้ทำการค้าขายโดยสำเภาร่วมกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งก่อนหน้าและภายหลังเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ
ครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงพระราชทานนามของวัดแห่งนี้ คงจะพระราชดำริถึงเรื่องที่เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) เป็นมิตรที่ดีของพระองค์ด้วย จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดว่า “วัดกัลยาณมิตร” อันหมายถึง มิตรที่ดี
บริเวณวัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร แห่งนี้ เดิมเรียกกันว่า “บ้านกุฎีจีน” ตามประวัติความเป็นมาได้กล่าวไว้ว่า มีพระภิกษุจีนรูปหนึ่ง มีนามว่า “เกียน อันเก๋ง” มาพำนักจำพรรษาอยู่ในกุฏิซึ่งอยู่ด้านตะวันออกของวัด โดยยังคงมีซากปรากฏให้เห็นอยู่จนถึงทุกวันนี้ ต่อมาคำว่า “บ้านกุฎีจีน” ถูกนำไปเรียกบ้านกุฎีฝรั่ง ที่หมู่บ้านเข้ารีตซึ่งมีวัดฝรั่งอยู่ตรงนั้น คำว่ากุฎีฝรั่งจึงหายไป โดยกุฎีจีนไปแทนที่
ภายใน “พระวิหารหลวง” อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร มีขนาดหน้าตักกว้าง ๑๑.๗๕ เมตร สูง ๑๕.๔๖ เมตร เรียกกันว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก” หรือ “พระโต” หรือ “หลวงพ่อโต” ส่วนคนจีนก็จะเรียกว่า “ซำปอกง” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานช่วยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) พร้อมพระวิหารหลวง โดยได้เสด็จพระราชดำเนินก่อพระฤกษ์พระโต เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๘๐ การสร้างพระโตที่วัดกัลยาณมิตรแห่งนี้ พระองค์ทรงตั้งใจจะให้เหมือนกรุงเก่า คือ มีพระโตนอกกำแพงเมืองอย่างเช่นวัดพนัญเชิง วรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “พระโต” หรือ “หลวงพ่อโต” ช่วยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) โดยทรงเอาเคล็ดว่าท่านมีชื่อว่า “โต”
สำหรับ พระวิหารหลวง นั้นตั้งอยู่กลางวัด มีขนาดสูงใหญ่ เสาภายในพระวิหารหลวงเขียนเป็นลายดอกไม้ หน้าบันพระวิหารหลวงสลักลายดอกไม้ประดับกระจกตามแบบฉบับศิลปะสมัยนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บานประตูหน้าต่างเป็นไม้สลักแผ่นใหญ่หนาแผ่นเดียวตลอด
พระวิหารหลวงแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นมาในปี พ.ศ. ๒๓๘๐ วางรากฐานโดยไม่ได้ตอกเสาเข็ม แต่ใช้วิธีขุดพื้นรูปสี่เหลี่ยม ฐานกว้างและใช้ไม้ซุงทั้งท่อนเรียงทับซ้อนกัน ๒-๓ ชั้น มีขนาดกว้าง ๓๑.๔๒ เมตร ยาว ๓๖.๘๕ เมตร ลักษณะการก่อสร้างเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เชิงชาย หน้าบันสลักลายดอกไม้ปูนปั้นประดับกระจก ประตูหน้าต่างเป็นไม้สักแผ่นเดียวเขียนลายรดน้ำลายทองรูปธรรมบาล ด้านในพระวิหารหลวงมีผนังเป็นลายดอกไม้ ด้านหน้าพระวิหารหลวงมีซุ้มประตูหิน (โขลนทวาร) และตุ๊กตาหินศิลปะจีนตั้งเรียงรายอยู่
ด้านซ้ายของพระวิหารหลวง เป็น “พระวิหารเล็ก” หรือ “พระวิหารน้อย” ซึ่งมีลักษณะเดียวกับพระอุโบสถ ภายในมีภาพเขียนพระพุทธประวัติและเป็นที่ประดิษฐานองค์พระพุทธรูปปางต่างๆ เป็นจำนวนมาก
สำหรับด้านขวาของพระวิหารหลวงเป็น “พระอุโบสถ” ด้านหลังของพระอุโบสถมี พระเจดีย์เหลี่ยมพร้อมกับฐานทักษิณ ฝีมือช่างจากเมืองจีน โดยช่างในเมืองไทยสมัยรัชกาลที่ ๓ ส่งแบบและขนาดให้ช่างเมืองจีนหล่อศิลาเทียมแล้วเอาเข้ามาประกอบในเมืองไทย
(ที่มา : อภิญญา อภิญญาใหม่ คณะตามรอยพระพุทธบาทแก้วมณีโชติ คณะพระธาตุแก้วมณีโชติ, พระพุทธไตรรัตนนายกหรือหลวงพ่อโต วัดกัลยาณมิตร, apinya.com, โพสต์ มกราคม 2559)