เลขที่ : 0944
เลขที่ : 1462
ประเภทพระเครื่อง : พระเนื้อดิน
ชื่อพระเครื่อง : พระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง
สถานะ (ให้ชม/เช่าบูชา) :
ข้อมูลของพระเครื่อง : พระขุนแผน พิมพ์ทรงพลใหญ่ กรุวัดบ้านกร่าง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี
วัดบ้านกร่าง วัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัย กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตั้งอยู่ ต.ศรีประจันต์ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณหรือแม่น้ำท่าจีน นับเป็นกรุพระเครื่องเก่าแก่ ที่มีชื่อเสียงกรุหนึ่งของจังหวัด ปรากฏ พระเครื่องลือชื่ออันดับต้นๆ มากมาย ที่เป็นที่นิยมสะสมและแสวงหากันอย่างกว้างขวาง
สันนิษฐานว่า พระกรุวัดบ้านกร่าง น่าจะเป็นพระพิมพ์ที่สร้างในสมัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งเดินทัพมาที่เมืองสุพรรณ เพื่อสู้รบกับกองทัพพม่า ซึ่งมีพระมหาอุปราชเป็นแม่ทัพใหญ่ และทรงสร้างพระเครื่องไว้ที่วัดบ้านกร่าง ให้ทหารที่ออกรบนำติดตัวไว้ เพื่อให้แคล้วคลาดปลอดภัยในการสงคราม สมัยนั้นคติของคนโบราณถือว่า “พระต้องอยู่ที่วัด”
ดังนั้น เมื่อการสงครามสิ้นสุด ทหารจึงนำพระทั้งหมดมารวมไว้ที่วัดบ้านกร่างตามเดิม แล้วสร้าง “พระเจดีย์” บรรจุไว้
อีกเหตุผลหนึ่งคือ มีพระกรุวัดบ้านกร่างพิมพ์หนึ่ง มีพิมพ์ทรงเดียวกับ พระขุนแผนเคลือบ กรุวัดใหญ่ชัยมงคล จ.พระนครศรีอยุธยา อันเป็นที่ทราบกันว่า สร้างโดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่จะผิดกันก็ตรงความประณีตและเนื้อมวลสารที่ด้อยกว่า ซึ่งอาจเป็นเพราะรีบสร้างในช่วงทำศึกสงคราม ทำให้วัสดุและความประณีตด้อยกว่า
ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็แสดงว่า “พระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง จะต้องสร้างขึ้นก่อนพระขุนแผนเคลือบ กรุวัดใหญ่ชัยมงคล อย่างแน่นอน”
พระขุนแผน พิมพ์อกใหญ่ กรุวัดบ้านกร่าง นับเป็นพระยอดนิยมที่มีพุทธลักษณะเดียวกับ “พระขุนแผนเคลือบ วัดใหญ่ชัยมงคล” คือ พิมพ์ทรงห้าเหลี่ยม องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย ภายในซุ้มเรือนแก้ว องค์พระแลดูสง่าผ่าเผย
นอกจากนี้ “พระกรุวัดบ้านกร่าง” ที่นับเป็นพระยอดนิยม อันดับต้นๆ อีกหนึ่งพิมพ์ คือ “พิมพ์ทรงพลใหญ่” ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าพระตระกูลขุนแผนทั้งหมด และยังมี พิมพ์อกเล็ก, พิมพ์ทรงพลเล็ก, พิมพ์แขนอ่อน, พิมพ์หน้าเทวดา, พิมพ์หน้าฤๅษี ฯลฯ ซึ่งล้วนมีความงดงามและทรงพุทธคุณเป็นเลิศทั้งแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี และเมตตามหานิยมเช่นเดียวกัน
(ที่มา : ราม วัชรประดิษฐ์, คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง, ข่าวสด, 1 พฤษภาคม 2561)