เลขที่ : 0964
ประเภทพระเครื่อง : พระเนื้อดิน
ชื่อพระเครื่อง : พระขุนแผน กรุโรงเหล้า
สถานะ(ให้เช่าบูชา/โชว์) :
ข้อมูลของพระเครื่อง : พระขุนแผน กรุโรงเหล้า จ.อยุธยา
พระขุนแผน อีก 1 กรุ ณ เมืองกรุงเก่า ที่ต้องกล่าวถึงเช่นกัน เพราะถือเป็น 1 ในพระพิมพ์ขุนแผนที่มีกิตติศัพท์ด้านพุทธคุณเป็นที่เลื่องลือ ทั้งยังมีเนื้อหามวลสารและพิมพ์ทรงเดียวกันกับ “พระขุนแผนเคลือบ กรุวัดใหญ่ชัยมงคล” อีกด้วย คือ มีทั้งพิมพ์อกใหญ่และพิมพ์อกเล็ก จะแตกต่างกันตรงที่เป็นพระที่ยังไม่ได้เคลือบด้วยน้ำยาเท่านั้น นอกจากนี้ พระกรุนี้ยังไปตรงกับ “พระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง จ.สุพรรณบุรี” แต่ต่างกันก็ตรงเนื้อมวลสารที่สร้างด้วยดินขาว ดินเหลือง และดินดำ เป็นหลัก เมื่อเผาแล้วองค์พระจะออกเป็นสีขาวแบบเนื้อกระเบื้อง ทำให้เนื้อพระมีความแกร่งมากกว่า ในวงการเรียกขานพระขุนแผนกรุนี้ว่า “กรุหลังโรงเหล้า” หรือบ้างก็เรียก “กรุโรงเหล้า” ชื่อกรุพระเองก็ยังดูแปลกๆ…มาดูกันว่าเป็นมาอย่างไร
ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2485 โรงเรียนฝึกหัดครูสตรีประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา(ปัจจุบันเป็นที่ตั้ง หอพักอู่ทอง มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา) ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเกาะเมือง ด้านหน้าติดถนนอู่ทอง ฝั่งตรงข้ามเป็น “โรงงานสุราพระนครศรีอยุธยา”(ปัจจุบันเป็นโรงเก็บน้ำประปาของเทศบาล) ซึ่งหันหน้าไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา หันหลังให้โรงเรียนฝึกหัดครูสตรี ได้ขยายและก่อสร้างอาคารเรียนเพิ่ม โดยมีผู้ควบคุมการตกแต่งสถานที่ ชื่อ ท่านอาจารย์ หลุย ชมชื่น มีคนงานทั้งชาวไทยพุทธและชาวไทยอิสลาม โดยส่วนใหญ่ทำการเกลี่ยดินได้วันละ 50 สตางค์ ในสมัยนั้น
ปรากฏว่าคนงานทำการขุดแต่งโคกโบสถ์ร้างแห่งหนึ่งซึ่งเต็มไปด้วยซากอิฐซากปูน ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดสิงห์หลาย” หรือ “วัดสิงห์ทลาย” ลึกลงไปประมาณหนึ่งเมตร คนงานพบพระเนื้อผงสีขาวและสีขาวปนชมพู กระจัดกระจายเกลื่อนเป็นร้อยๆ องค์ และพบหุ่นสิงโตทองคำปะปนอยู่ด้วยตัวหนึ่ง เนื่องจากองค์พระมีพุทธลักษณะเหมือน “พระขุนแผน” ที่ขึ้นอยู่ก่อนหน้านี้ จึงเรียกพระที่พบว่า “พระขุนแผน” และเรียกชื่อกรุตามตำแหน่งที่พบ นั่นคือ “หลังโรงเหล้า” ต่อมาหดสั้นลงเป็น “โรงเหล้า” เมื่อนำพระมารวมกันมีทั้งสมบูรณ์และชำรุดจำนวนเกือบพันองค์ ก็เช่าซื้อกันองค์ละไม่เกินสิบบาท
พระขุนแผน กรุโรงหลังเหล้า (กรุโรงเหล้า) จะมีพุทธลักษณะและพิมพ์ทรงคล้ายคลึงกับพระที่เรียกว่า “ขุนแผน” ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คือ องค์พระประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย ภายใต้ซุ้มเรือนแก้ว อันแสดงออกถึงศิลปะสมัยอยุธยา แต่ไม่เคลือบเช่นเดียวกับพระขุนแผนกรุบ้านกร่าง สามารถแยกออกได้เป็น 2 พิมพ์ คือ “พิมพ์อกใหญ่” เนื้อขาวใบลาน และ “พิมพ์อกเล็ก” หรือ “พิมพ์แขนอ่อน” เนื้อขาวปนชมพู โดยพิมพ์อกใหญ่จะมีความแข็งแกร่งมากกว่าพิมพ์อกเล็ก
พระที่เรียกว่า “พระขุนแผน” นั้น เป็นที่ยอมรับกันทุกผู้ทุกนามในเรื่องพุทธคุณเข้มขลังที่ครบเครื่องครบครัน โดยเฉพาะด้านเมตตามหานิยมสูงส่ง มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับประสบการณ์ของพระขุนแผน ที่เรียกว่าเป็นการประชันกรุกันทีเดียว และหนึ่งในนั้นก็คือ “กรุหลังโรงเหล้า” เสียด้วย เรื่องมีอยู่ว่า …
… ครั้งหนึ่ง มีเซียนพระ 3 คน แย่งกันจีบผู้หญิงคนเดียวกัน และแต่ละคนต่างก็จะมีของดีประจำตัวอยู่ โดย คนที่ 1 ห้อยพระขุนแผนเคลือบ กรุวัดใหญ่ชัยมงคล คนที่ 2 ห้อยพระขุนแผน กรุโรงเหล้า และ คนที่ 3 ห้อยพระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง จ.สุพรรณบุรี ผลปรากฏว่า คนที่ห้อย “พระขุนแผน กรุโรงเหล้า” สามารถชนะใจสาวเจ้าได้ …
เรื่องราวนี้ ตามความเป็นจริงแล้ว อาจจะเป็นด้วยสาเหตุอื่นใดก็ตาม … แต่ก็กลับกลายเป็นตำนานเล่าขานของพระขุนแผน 3 กรุ ที่มาประชันพุทธคุณด้านเมตตามหานิยม ในแวดวงพระเครื่องเมืองกรุงเก่าสืบต่อมา ขึ้นชื่อว่า “พระขุนแผน” แล้ว ไม่ว่ากรุไหน พิมพ์ไหน ก็เป็นที่นิยมและเสาะแสวงหากันในวงการนักนิยมสะสมพระเครื่องอย่างกว้างขวางเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว “พระขุนแผน กรุโรงหลังเหล้า (กรุโรงเหล้า)” ก็เช่นกัน
(ที่มา : ราม วัชรประดิษฐ์, พันธุ์แท้พระเครื่อง, ข่าวสด, พระขุนแผน กรุหลังโรงเหล้า, 7 พฤษภาคม 2561)