เหรียญหลวงพ่อวัดไร่ขิง วัดไร่ขิง


... ...

เลขที่ :1002
... ...

เลขที่ : 0833

ประเภทพระเครื่อง : พระเหรียญ พระหล่อ
ชื่อพระเครื่อง : เหรียญหลวงพ่อวัดไร่ขิง วัดไร่ขิง
สถานะ (ให้ชม/เช่าบูชา) :
ข้อมูลของพระเครื่อง : เหรียญหลวงพ่อวัดไร่ขิง วัดไร่ขิง จ.นครปฐม 2467
หลวงพ่อวัดไร่ขิง พระพุทธรูปเก่าแก่สำคัญที่เป็นที่เคารพศรัทธาของชาว ต.ไร่ขิง อ.สาม พราน จ.นครปฐม รวมทั้งพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ เป็นที่กล่าวขวัญว่า ผู้ได้ไปกราบไหว้ขอพรสิ่งใด ก็มักสำเร็จสมดังประสงค์ทุกประการ วัตถุมงคลต่างๆ ที่จัดสร้างขึ้นมาจึงล้วนได้รับความนิยมสะสมมาตั้งแต่อดีตสืบจนปัจจุบัน
กล่าวกันว่า หลวงพ่อวัดไร่ขิง เป็นอีกหนึ่งพระพุทธรูปใน “ตำนานพระพุทธรูปลอยน้ำ 5 องค์” ที่ว่า …
“…กาลครั้งหนึ่ง มีพี่น้องชาวเมืองเหนือ 5 คน ได้บวชเป็นพระภิกษุในพระบวรพุทธศาสนาจนสำเร็จเป็นพระอริยสงฆ์ขั้นโสดาบัน ได้พร้อมใจกันตั้งจิตอธิษฐานว่า เกิดมาชาตินี้จะขอบำเพ็ญบารมีช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ ถึงแม้จะละสังขารไปก็จะขอสร้างบารมีช่วยสัตว์โลกต่อไปจนกว่าจะถึงพระนิพพาน ครั้นเมื่อทั้ง 5 รูปดับขันธ์แล้ว จึงเข้าไปสถิตในพระพุทธรูป 5 องค์ โดยมีความปรารถนาจะช่วยผู้คนทางเมืองใต้ที่อยู่ติดลำน้ำให้ได้พ้นทุกข์ จึงพากันลอยน้ำลงมาตามลำน้ำทั้ง 5 สาย เมื่อชาวบ้านตามเมืองที่อยู่ริมแม่น้ำเห็นเข้าก็อัญเชิญขึ้นฝั่งและอาราธนาไปประดิษฐานตามวัดต่างๆ โดยองค์ที่ 1 ลอยไปตามแม่น้ำบางปะกง ขึ้นสถิตที่วัดโสธรวรวิหาร เมืองแปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา เรียกกันว่า “หลวงพ่อโสธร” องค์ที่ 2 ลอยไปตามแม่น้ำนครชัยศรี (ท่าจีน) ขึ้นสถิตที่วัดไร่ขิง เมืองนครชัยศรี เรียกกันว่า “หลวงพ่อวัดไร่ขิง” องค์ที่ 3 ลอยไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้นสถิตที่วัดบางพลี เรียกกันว่า “หลวงพ่อวัดบางพลี” แต่บางตำนานก็ว่า หลวงพ่อวัดบางพลีเป็นองค์แรกในจำนวน 5 องค์ จึงเรียกว่า “หลวงพ่อโตวัดบางพลี” องค์ที่ 4 ลอยไปตามแม่น้ำแม่กลอง ขึ้นสถิตที่วัดบ้านแหลม เมืองแม่กลอง เรียกว่า “หลวงพ่อวัดบ้านแหลม” และ องค์ที่ 5 ลอยไปตามแม่น้ำเพชรบุรี ขึ้นสถิตที่วัดเขาตะเคราเมืองเพชรบุรี เรียกว่า “หลวงพ่อวัดเขาตะเครา”…”
บางตำนานก็ว่า “… แต่เดิม วัดไร่ขิงเป็นเพียงวัดเล็กๆ ต่อมา สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) ในสมัยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศาลาปูน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นชาวเมืองนครชัยศรี จ.นครปฐม ได้มาเยี่ยมเยือนวัดในเขตอำเภอสามพราน เมื่อเข้าไปกราบพระประธานในพระอุโบสถวัดไร่ขิง มีความเห็นว่าพระประธานมีขนาดเล็กเกินไป จึงให้ท่านเจ้าอาวาสวัดพร้อมชาวบ้านไปอัญเชิญพระพุทธรูปจากวัดศาลาปูน มาประดิษฐานเป็นพระประธาน โดยวางลงบนแบบไม้ไผ่และนำล่องมาตามลำน้ำ และได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ พระอุโบสถ ในวันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันสงกรานต์ ซึ่งองค์พระได้สำแดงปาฏิหาริย์ตั้งแต่ประกอบพิธีอัญเชิญเป็นที่อัศจรรย์ …”
สำหรับ “วัดไร่ขิง” นั้น ก็มีเรื่องเล่าว่า พื้นที่ของวัดในอดีตมีชาวจีนมาอยู่อาศัยกันเป็นจำนวนมากและนิยมปลูกขิงกันอย่างแพร่หลาย จนเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านหรือชุมชนในแถบนี้ว่า “ไร่ขิง” ต่อมาเมื่อชุมชนหนาแน่นขึ้น จึงได้มีการสร้างวัดเพื่อเป็นจุดศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านในการประกอบศาสนกิจ จึงให้ชื่อวัดว่า “วัดไร่ขิง” แต่นั้นมา
หลวงพ่อวัดไร่ขิง พระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4 ศอก 2 นิ้วเศษ สูง 4 ศอก 16 นิ้วเศษ พุทธศิลปะสมัยเชียงแสน สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างสมัยไทยล้านนาและล้านช้าง ได้สร้างอิทธิปาฏิหาริย์แก่ผู้มาสักการะขอพรให้สำเร็จได้ดังประสงค์ จนเป็นที่กล่าวขวัญเลื่องลือ เป็นที่เคารพศรัทธาของสาธุชนโดยถ้วนทั่ว ที่มักแวะเวียนมากราบสักการะขอพรอยู่เป็นเนืองนิตย์ จน ณ ปัจจุบัน วัดไร่ขิงถือเป็นหนึ่งในวัดที่มีความเจริญรุ่งเรืองและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของสาธุชนทั่วประเทศ
วัตถุมงคลหลวงพ่อวัดไร่ขิง มีการจัดสร้างกันเรื่อยมาในหลายแบบหลายประเภท ทั้งพระบูชา พระเครื่อง รูปหล่อ เหรียญ ฯลฯ ซึ่งล้วนปรากฏพุทธคุณเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของสาธุชนมาโดยตลอด โดยเฉพาะ “เหรียญหลวงพ่อวัดไร่ขิง ปี 2467” ที่นับเป็นเหรียญรุ่นแรก เป็นสุดยอดเหรียญดังของจังหวัด และได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งใน “ชุดเบญจภาคีเหรียญพระพุทธ” ด้วยพุทธลักษณะอันงดงาม คมชัด และพุทธคุณเป็นเลิศปรากฏ
เหรียญหลวงพ่อวัดไร่ขิง รุ่นแรก ปี 2467 จัดสร้างโดย หลวงพ่อใช้ ปติฏโฐ เจ้าอาวาสวัดไร่ขิงสมัยนั้น มีทั้ง เนื้อทองคำ เนื้อเงิน และเนื้อทองแดง ลักษณะเป็นเหรียญปั๊ม รูปทรงเสมา หูในตัว ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปจำลองหลวงพ่อวัดไร่ขิง ประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย เหนืออาสนะฐานแบบผ้าทิพย์ ขอบเหรียญแกะลวดลายกนกอย่างงดงาม เหนือพระเศียรเป็นเส้นรัศมีเปล่งออกมาจากขอบเหรียญ ด้านข้างตรงพระชานุทั้ง 2 ข้าง มีอักษรไทยว่า “ทืร” และ “ฤก” อันหมายถึง ที่รฤก ใต้อาสนะจารึกอักษรไทยว่า “หลวงพ่อวัดไร่ขิง” ส่วนด้านหลังเป็นยันต์อักขระขอมซึ่งเป็น “หัวใจของยันต์ใหญ่” จารึกอยู่ในตาราง 25 ช่อง อ่านว่า “พุท ธัง สะ ระ นัง คัจ ฉา มิ ธัม มัง สะ ระ นัง คัจ ฉา มิ สัง ฆัง สะ ระ นัง คัจ ฉา มิ” ช่องกลางของตารางเป็น “ตัวอะ” ซึ่งเป็นคำย่อของ “อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ” ด้านนอกยันต์ด้านล่าง มีอักขระขอมอีก 4 ตัว อ่านว่า “พุท ธะ สัง มิ” อันย่อมาจาก “พุท ธัง สะ ระ นัง คัจ ฉา มิ” ซึ่งถือเป็นยอดแห่งศีล หรือ “ไตรสรณคมน์” ที่มีดีครอบจักรวาล ด้านล่างสุดระบุปีที่สร้าง คือ “พ.ศ.๒๔๖๗”
เหรียญหลวงพ่อวัดไร่ขิง รุ่นแรก ปี 2467 ถือเป็นสุดยอดเหรียญพระพุทธในอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ที่เป็นที่ใฝ่ฝันและแสวงหาอย่างสูง
(ที่มา: พันธุ์แท้พระเครื่อง, ข่าวสด, หลวงพ่อวัดไร่ขิง จ.นครปฐม กับเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก, 4 ตุลาคม 2559)








Copyright © 2019 Form Webmaster Amuletherritage.
กลับด้านบน