พระโคนสมอ ศิลปะอยุธยา


... ...



เลขที่ : 1014
ประเภทพระเครื่อง : พระพุทธรูปบูชา
ชื่อพระเครื่อง : พระโคนสมอ ศิลปะอยุธยา
สถานะ (ให้ชม/เช่าบูชา) :
ข้อมูลของพระเครื่อง : พระโคนสมอ พระเนื้อดินเผา เป็นพระเนื้อดินเผาที่มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษที่มักเรียกกันว่า "พระท้าวชมพู" หรือหากจะเรียกให้ถูกต้อง ต้องเรียกขานกันตามพุทธประวัติที่นักสะสมรุ่นปู่ท่านเรียกขานกันว่าเป็นปาง " ทรมานพญาชมพู " ซึ่งเป็นพระยืนปางประทานพร ทรงเครื่องขัดติยราชประดับมงกุฎ สวยงาม ประทับอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว ฐานแบบย่อมุม ตามแบบศิลปะอยุธยายุคปลาย
ที่มาของชื่อเรียก “พระโคนสมอ” พระโคนสมอที่แท้จริงเป็นพระที่สร้างในยุคสมัยใด เมื่อคราวที่ราชการจะตั้งพิพิธภัณฑ สถานแห่งชาติ สำหรับพระนคร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา) เป็นแม่กองซ่อมแซมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)
เจ้าคุณวรพงศ์ ได้พบพระชินเงินฉาบปรอทเป็นจำนวนมากประมาณ 13 ปี๊บ อยู่บนเพดานท้องพระโรงพระที่นั่งศิวโมกข์ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ของพระราชวังบวรสถานมงคล จึงได้สั่งให้ชะลอพระทั้งหมดมาพักไว้ ณ โคนต้นสมอพิเภก ในบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล ต่อมาทางราชการได้นำพระชินเงินฉาบปรอทดังกล่าวเข้าประจุไว้ในพระเจดีย์ทอง ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อคราวฉลองพระนครครบ 150 ปี พ.ศ.2475 พระดังกล่าวได้ถูกทิ้งไว้ที่โคนต้นสมอพิเภกเป็นเวลานานพอสมควร
พระชินเงินฉาบปรอทคราวนั้นได้ถูกคนหยิบฉวยไปบ้าง จนต่อมาทางการจึงได้เคลื่อนย้ายไปเก็บรักษาไว้และมีพระบางส่วนที่มีการแบ่งให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ซึ่งใกล้ชิดเกี่ยวข้องในการซ่อมแซมพระราชวังบวรสถานมงคล และการที่มีผู้มาพบพระดังกล่าวที่โคนต้นสมอพิเภก ซึ่งท่านเจ้าคุณวรพงศ์นำพระไปชะลอไว้ จึงเรียกชื่อของพระตามสถานที่พบว่า “พระโคนสมอ” นอกจากนี้ในครั้งหลังๆ ที่มีการขุดซ่อมแซมต่างๆ ภายในพระราชวังบวรสถานมงคลก็ยังได้พบพระโคนสมอที่เป็นแบบเนื้อดินอยู่อีกเนืองๆ
ที่มาที่ไปของพระโคนสมอนี้ สมเด็จกรมพระราชวัง บวรมหาสุรสีหนาท กรมพระราชวังบวร ในรัชกาลที่ 1 ได้ทรงนำพระดังกล่าวมาจากวัดโบราณในจังหวัดพระนคร ศรีอยุธยา เมื่อคราวที่พระองค์ท่านเสด็จไปปฏิสังขรณ์วัดสุวรรณดาราม เมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในส่วนที่พบในครั้งอื่นๆ ก็มีที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกหลายวัดในองค์พระเจดีย์ และที่ในกรุงเทพฯ ก็มีพบบ้าง ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะมีการชะลอมาจากพระนครศรีอยุธยาเช่นกัน แต่โดยส่วนมากจะพบแต่พระโคนสมอแบบเนื้อดินแทบทั้งสิ้น ซึ่งพระที่พบแบบเนื้อดินนั้นจะเป็นพระปางประจำวันเกิดเสียเป็นส่วนใหญ่ และพบพระที่มีการลงรักปิดทองร่องชาดกับพระที่ไม่ได้ปิดทองก็มี
พระโคนสมอที่เป็นพระเนื้อชินเงินนั้น เท่าที่รู้มาจะพบที่พระราชวังสถานมงคลเพียงแห่งเดียว ที่อื่นๆ นั้นยังไม่ทราบข้อมูล และพระเนื้อชินจะมีขนาดย่อมกว่าพระเนื้อดินมากโขอยู่เหมือนกันครับ ความนิยมจะนิยมพระเนื้อชินมากกว่าพระเนื้อดิน ในส่วนของศิลปะเท่าที่เห็นนั้น สันนิษฐานว่าเป็นศิลปะแบบอยุธยายุคปลาย สังเกตง่ายๆ จากซุ้มของพระโคนสมอจะเห็น ทำเป็นคล้ายเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ที่นิยมสร้างในสมัยอยุธยา
พุทธคุณของพระโคนสมอนั้น ที่ประจักษ์กันมาก็ในด้านอยู่ยงคงกระพัน และแคล้วคลาด
(ที่มา : แทน ท่าพระจันทร์, คอลัมน์ ชมรมพระเครื่อง, ข่าวสด, 24 กรกฎาคม 2560)








Copyright © 2019 Form Webmaster Amuletherritage.
กลับด้านบน