เลขที่ : 1056
ประเภทพระเครื่อง : พระกริ่ง
ชื่อพระเครื่อง : พระกริ่งเทพโมลี สมเด็จพระสังฆราชแพ วัดสุทัศนเทพวราราม
สถานะ (ให้ชม/เช่าบูชา) :
ข้อมูลของพระเครื่อง : พระกริ่งสมเด็จพระสังฆราชแพ วัดสุทัศนเทพวราราม จ.กรุงเทพมหานคร รุ่นเทพโมลี พระกริ่งรุ่นแรกของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ.2441-2442 ในวโรกาสที่ได้รับแต่งตั้งเป็น "พระเทพโมลี"
พระกริ่งเทพโมลี พระกริ่งรุ่นแรกของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ.2441-2442 ในวโรกาสที่ได้รับแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ที่ ‘พระเทพโมลี’ โดยสร้างตามตำรับ ‘วัดป่าแก้ว’ และ ‘พระกริ่งปวเรศ’ ที่ทรงรำลึกถึง ซึ่งมีวิธีการอันละเอียดซับซ้อนและเต็มไปด้วยพิธีกรรมมากมาย ทรงตรัสว่า “ต้องดีในและดีนอก” “ดีใน” หมายถึง เมื่อสร้างพระกริ่งออกมาแล้วจะต้องมีเสียงเขย่าดังของเม็ดกริ่งที่ดังกังวาน โดยไม่ปรากฏรูเจาะรูคว้านให้เห็น ซึ่งจะต้องทำอย่างประณีตให้เป็นเนื้อเดียวกับองค์พระ ส่วน “ดีนอก” นั้น คือมวลสารแห่งเนื้อพระต้องตามสูตรอย่างโบราณทุกประการ เป็นเนื้อนวโลหะ ภายในขาวคล้ายเงิน แล้วกลับดำสนิท
พระกริ่ง แม้จะเริ่มมีการเผยแพร่เข้ามาสู่สยามประเทศตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศจีน ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพนรัต แห่งวัดป่าแก้ว หรือ วัดใหญ่ชัยมงคล ได้รับ “ตำราการสร้างพระกริ่ง” มาจากที่ใดไม่ปรากฏ และไม่มีหลักฐานการสร้างที่แน่ชัด ต่อมาตกทอดมายัง สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนฯ แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง กระทั่ง “ตำราพระกริ่ง” ตกทอดมาถึง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร จึงปรากฏหลักฐานการจัดสร้างพระกริ่งขึ้นและทรงขนานพระนามว่า “พระกริ่งปวเรศฯ” สุดยอดของพระกริ่งของไทย
จนเมื่อตกทอดมาถึง สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสเทว) วัดสุทัศนเทพวราราม สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 12 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระกริ่งจึงเริ่มเป็นที่รู้จักและนิยมสะสมกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะสายวัดบวรนิเวศวิหาร, วัดจักรวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม) และ วัดสุทัศนเทพวราราม จวบจนปัจจุบันยังคงมีการจัดสร้าง “พระกริ่ง” ในหลายๆ สำนักทั่วประเทศไทย ด้วยเชื่อในพุทธาคมความศักดิ์สิทธิ์ที่มีมาแต่อดีต
กล่าวถึง พระกริ่งยุคสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ที่สร้างให้พระกริ่งเป็นที่กล่าวขานเลื่องลือและแพร่หลายสืบมานั้น เริ่มจากที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ มีความนิยมชมชอบมาแต่ครั้ง “พระกริ่งปวเรศ” จนมาคิดค้นสูตรเฉพาะต่างๆ ของท่านเอง และริเริ่มสร้าง ‘พระกริ่ง’ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2441 ถึง พ.ศ.2486 ซึ่งล้วนทรงคุณค่าและทรงพุทธาคมเป็นเลิศ เป็นที่นิยมสะสมและแสวงหาทั้งสิ้น มีอาทิ พระกริ่งเทพโมลี, พระกริ่งธรรมโกษาจารย์, พระกริ่งพรหมมุนี, พระกริ่งพุฒาจารย์ ฯลฯ จนมาถึงรุ่นสุดท้ายคือ ‘พระกริ่งเชียงตุง’ แต่ด้วยจำนวนการสร้างในแต่ละรุ่นนั้นน้อยมาก ปัจจุบันจึงนับว่าหาได้ยากยิ่งนัก โดยเฉพาะรุ่นแรกและรุ่นสุดท้าย
(ที่มา : ราม วัชรประดิษฐ์, สยามรัฐออนไลน์, พระกริ่งรุ่นแรกและรุ่นสุดท้าย ใน สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทว), 7 มิถุนายน 2561)
สมเด็จพระสังฆราชแพ วัดสุทัศน์เทพวราราม