เลขที่ : 1059
ประเภทพระเครื่อง : พระกริ่ง
ชื่อพระเครื่อง : พระกริ่งเชียงตุง สมเด็จพระสังฆราชแพ
สถานะ (ให้ชม/เช่าบูชา) :
ข้อมูลของพระเครื่อง : พระกริ่งเชียงตุง สมเด็จพระสังฆราชแพ
พระกริ่งเชียงตุง พระกริ่งรุ่นสุดท้ายของสมเด็จพระสังฆราชแพ เป็นการสร้างโดยใช้ “พิมพ์พระกริ่งใหญ่” ของ พระยาศุภกรบรรณสาร (นุ่ม วสุธาร) ผู้อำนวยการกองพระคลังข้างที่ในสมัยรัชกาลที่ 6 อดีตช่างทองหลวงฝีมือดี ด้วยท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงโปรดพิมพ์ “พระกริ่งจีนใหญ่” ที่มีความสวยงามในทุกมุมมอง ซึ่งพระยาศุภกรบรรณสารจะรับอาสาทำแม่พิมพ์พระกริ่งใหญ่ถวายมาโดยตลอด ตั้งแต่ ‘พระกริ่งพรหมมุนี’ ในปี พ.ศ.2458 เมื่อกรอกหุ่นเทียนเสร็จตามจำนวนที่จะเข้าหุ่นดินไทยแล้ว ก็จะนำแม่พิมพ์กลับไปและเป็นเช่นนี้ทุกครั้ง แต่พอถึงปี พ.ศ.2466 ที่ทรงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ก็ทรงใช้เป็นแบบสร้าง ‘พระกริ่งพุฒาจารย์’ เช่นกัน ซึ่งในช่วงนั้นพระยาศุภกรบรรณสารได้ถึงแก่อนิจกรรม จากนั้นมาท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงต้องเปลี่ยนไปใช้แม่พิมพ์อื่นในการสร้างพระกริ่งเป็นเวลาถึง 10 ปี
จนถึงปี พ.ศ.2486 คุณหญิงศุภกรบรรณสาร ภรรยาของพระยาศุภกรบรรณสาร ได้นำ ‘แม่พิมพ์พระกริ่งใหญ่’ ซึ่งเป็นแม่พิมพ์ตะกั่วอันเดิมกลับมาถวาย และในปีนั้นเอง ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงโปรดให้หล่อพระกริ่งใหญ่โดยใช้แม่พิมพ์ตะกั่วเดิมนั้น เพื่อประทานแก่เจ้าหน้าที่กรมการศาสนาและพระสงฆ์ที่จะเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ สาธารณรัฐเชียงตุง (ปัจจุบันอยู่ในประเทศพม่า-เมียนม่าร์) ถวายพระนามว่า “พระกริ่งเชียงตุง” โดยสร้างจำนวน 108 องค์ สถาปนาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2486 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ครั้นพอถึงปีรุ่งขึ้น ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2487 ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ก็เสด็จดับขันธ์สิ้นพระชนม์ สิริพระชนมายุ 89 พระพรรษา 66
พระกริ่งเชียงตุง เป็นพระกริ่งที่ทรงสร้างโดยใช้ชนวนพระกริ่งรุ่นต่างๆ ที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงเก็บไว้บนตำหนักสมเด็จฯ ผสมกับเนื้อชนวนพระกริ่ง ปี 2482 และแผ่นทองที่จารพระยันต์ 108 กับ นะ ปถมัง 14 รวมกับแผ่นทองที่เหลือจากการหล่อพระพุทธชินราชอินโดจีน ปี 2485 อีกจำนวนมาก กระแสเนื้อภายในจะออกสีนากอ่อนแล้วกลับเป็นสีน้ำตาล มีทั้งวรรณะอมเขียว ที่เรียกว่า ‘สีไพล (ว่านไพล)’ คือออกสีเขียวเข้ม เพราะแก่ชนวนพระกริ่งนวโลหะ และวรรณะออกน้ำตาลอ่อนและน้ำตาลอมแดง โดยมีท่านผู้รู้ได้ผูกคำพ้องจองกันว่า “พระกริ่งเชียงตุง พิมพ์กริ่งใหญ่ เนื้อเหลืองไพล อุดใหญ่ใกล้บัว” นับเป็นพระกริ่งที่งดงามและหายากยิ่ง
(ที่มา : ราม วัชรประดิษฐ์, สยามรัฐออนไลน์, พระกริ่งรุ่นแรกและรุ่นสุดท้าย ใน สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทว), 7 มิถุนายน 2561)