เลขที่ : 1603
เลขที่ : 1604
เลขที่ : 1605
ประเภทพระเครื่อง : พระเนื้อชินยอดนิยม
ชื่อพระเครื่อง : พระมเหศวร กรุวัดพระศรี สุพรรณบุรี
สถานะ(ให้เช่าบูชา/โชว์) :
ข้อมูลของพระเครื่อง : พระมเหศวร เนื้อชินเงิน กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ต.รั้วใหญ่ อ.เมือง จังหวัดสุพรรณบุรี
ความแปลกของพระพิมพ์นี้เรียกได้ว่า มีเพียงแห่งเดียวในเมืองไทย คือ พระเศียรพระมเหศวรหน้าหนึ่ง กับพระเศียรอีกหน้าหนึ่งจะวางกลับกัน หรือสวนทางกัน ด้วยเหตุที่พระเศียร 2 ด้านวางสวนกลับกันไปมา นักพระเครื่องจึงเรียกพระพิมพ์นี้ “พระมเหศวร”
มีบางท่านเข้าใจว่าตั้งชื่อตามชื่อของขุนโจรชื่อดังของเมืองสุพรรณ คือ เสือมเหศวร แต่ข้อเท็จจริงชื่อ พระมเหศวร มีมาก่อนไม่น้อยกว่า 100 ปี ก่อนหน้าที่จะมี เสือมเหศวร เป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นจอมโจรที่โด่งดังในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ร่วมสมัยกับ เสือใบหัวหน้าโจร, เสือดำ, เสือหวัด, เสือฝ้าย และยังได้เข้าร่วมกับขบวนการไทยถีบ ดักปล้นและถีบสินค้าหรืออาวุธของทางทหารญี่ปุ่นจากขบวนตู้รถไฟด้วย
พระมเหศวร มีหลายพิมพ์ทรง แบ่งตามขนาดได้เช่น พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก และพิมพ์ใหญ่พิเศษ หากแยกลงรายละเอียดก็จะได้อีกหลายสิบพิมพ์ ขณะเดียวกัน หากแบ่งตามพระพักตร์ (ใบหน้า) ก็จะได้อีกหลากหลาย อาทิ หน้าอู่ทอง หน้าพระเศียรขนนก หน้าพระเนตรโปน ฯลฯ
พระมเหศวร นอกจากจะมีพิมพ์พระเศียรสวนกลับกันคนละหน้าแล้ว ยังมี พิมพ์สวนเดี่ยว คือเป็นพระหน้าเดียว ด้านหลังเรียบ บางองค์ด้านหลังมีลายผ้า นอกจากนี้ ยังมีพระพิมพ์ 2 หน้า โดยมีพระเศียรไปทางด้านเดียวกัน เรียกว่า พิมพ์สวนตรง เหมือนกับพระพิมพ์ 2 หน้าทั่วๆ ไป
บางองค์ด้านหน้าเป็นองค์พระ ด้านหลังเป็นซุ้มระฆัง หรือเป็นพระนาคปรกก็มี จัดเป็นพระพิมพ์พิเศษที่หาได้ยากกว่าปกติ
พุทธลักษณะพระมเหศวร หากพิจารณาและวิเคราะห์จากรูปลักษณ์แล้ว พระมเหศวรมีสัณฐานเป็นทรงสี่เหลี่ยม ตรงกลางของด้านข้าง ทำเป็นรอยเว้าโค้งเข้าหาองค์พระ เป็นลักษณะการออกแบบแม่พิมพ์ที่มีมาแต่เดิม นับเป็นความอัจฉริยภาพของช่างโบราณ ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะให้แตกต่างกันออกไป ได้อย่างงดงามลงตัว
เมื่อดูจากด้านหน้าขององค์พระ บริเวณข้างพระเศียร อันปรากฏเส้นรัศมี หรือที่บางท่านเรียกว่า "เส้นม่าน" มีลักษณะคล้ายปีก หากเมื่อพลิกด้านหลังตรงบริเวณนี้จะเป็นบริเวณส่วนของพระเพลา และฐานของพระอีกด้าน เป็นการวางรูปลักษณ์ได้สัดส่วนลงตัวพอดีของพระทั้งสองด้าน
นับเป็นจินตนาการงานศิลป์ชั้นบรมครูอย่างแท้จริง ในการออกแบบพิมพ์ทรงองค์พระได้อย่างงดงามยิ่ง โดยไม่เหมือนกันพระพิมพ์อื่นๆ ที่พบเห็นกันมาก่อน
เส้นรัศมี นับเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของ พระมเหศวร ที่มักจะปรากฏให้เห็นเป็นเส้นขีดๆ บริเวณข้างพระเศียรทั้งซ้ายและขวา สองขีดบ้าง สามขีดบ้าง และบางครั้งถึงขั้นระบุว่า ต้องมีจำนวนเท่านั้นเท่านี้เส้น ยึดถือเป็นกฎเกณฑ์ตายตัวของแต่ละแบบพิมพ์ การกำหนดกฎเกณฑ์เช่นนั้น อาจจะมีการเข้าใจผิด และคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง เนื่องจากจำนวนเส้นรัศมีใน พระมเหศวร ของแต่ละพิมพ์นั้น มีทั้งสองขีด และสามขีด ไม่แน่นอนตายตัว ในจำนวนพระที่มีขีดรัศมีนั้น ลักษณะของขีดและตำแหน่งที่ปรากฏ แม้จะพอประมาณได้ว่า อยู่ในบริเวณเดียวกัน แต่ก็ยังมีความแตกต่างออกไปเช่นกัน รวมไปถึงพระบางองค์ที่ไม่มีเส้นรัศมีเลยก็มี แต่ก็เป็นพระแท้เช่นกัน
พระมเหศวร เป็นพระเนื้อชินเงิน ซึ่งเป็นโลหะผสมจากเนื้อตะกั่ว ดีบุก เงิน และปรอท บางองค์ที่แก่ดีบุกองค์พระจะออกผิวพรรณสีขาวคล้ายสีเงิน บางองค์ที่แก่ตะกั่ว องค์พระจะออกสีเทาดำ และบางองค์ที่มีส่วนผสมของตะกั่วค่อนข้างสูง จะปรากฏสนิมแดง (แดงส้ม) ของตะกั่วอยู่ประปรายทั่วองค์พระทั้ง 2 ด้าน
พระพุทธคุณ เยี่ยมยอดด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาดมหาอุด โดยเฉพาะด้านคงกระพันชาตรี ถือว่าสุดยอดที่สุด ความนิยมของพระมเหศวรจัดอยู่ในระดับแถวหน้าของวงการพระเครื่องประเภทเนื้อชินยอดขุนพล
ที่มา : ชาติ วิศิษฏ์สรอรรถ, Komchadluek, https://www.komchadluek.net/ , พระมเหศวร กรุวัดพระศรีฯ สุพรรณบุรี, โพสต์ 20 มีนาคม พ.ศ. 2552.