เลขที่ : 1702
ประเภทพระเครื่อง : พระเหรียญ พระหล่อ
ชื่อพระเครื่อง : เหรียญ 25 พุทธศตวรรษ
สถานะ (ให้ชม/เช่าบูชา) :
ข้อมูลของพระเครื่อง : เหรียญ 25 พุทธศตวรรษ หรือ เหรียญพระลีลา 25 พุทธศตวรรษ พิมพ์มีเข็ม ด้านหน้าเหรียญเป็นพระพุทธรูปปางลีลามีพุทธศิลปะที่อ่อนช้อยงดงาม
ในปีพุทธศักราช 2500 พระพุทธศาสนายุกาลล่วงพ้นเป็นเวลา 2,500 ปี นับตั้งแต่พุทธปรินิพพาน หรือการเสด็จดับขันธปรินิพพานของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือเดือนวิสาขะ
ดังนั้นในปี พ.ศ.2500 รัฐบาลสมัยนั้น นำโดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้จัดงานเฉลิมฉลอง 25 พุทธศตวรรษ รวมทั้งการก่อสร้างพุทธมณฑล อ.ศาลายา จ.นครปฐม พร้อมด้วยพระประธานแห่งพุทธมณฑล ตลอดไปจนถึง “วัตถุมงคล 25 พุทธศตวรรษ”
วัตถุมงคลที่เรียกชื่อกันว่า “พระ 25 พุทธศตวรรษ” เป็นอีกหนึ่งวัตถุมงคล ที่ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธี ทั้งเททองและกดพิมพ์เป็นปฐมฤกษ์ ตลอดทั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีพุทธาภิเษก ในช่วงต้นแห่งการสร้างวัตถุมงคลด้วยพระองค์
การจัดสร้างวัตถุมงคลครั้งนั้น คณะกรรมการได้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชวโรกาส เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธรูป และทรงกดพิมพ์พระพิมพ์เนื้อดิน เป็นปฐมฤกษ์
หนังสือ “พุทธมณฑลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” หน้า 111-112 ได้บันทึกเหตุการณ์ครั้งนั้น ความว่า …
“วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2500 เวลา 16 นาฬิกา 30 นาที พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ มายัง วัดสุทัศนเทพวราราม เสด็จขึ้นบนพระวิหาร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระศรีศากยมุนี แล้วเสด็จฯ ไปยังพระอุโบสถทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย สมเด็จพระราชาคณะ และ พระราชาคณะ ถวายศีลจบแล้วเจริญพระพุทธมนต์ ทรงจุดเทียน มหามงคล โหรบูชาฤกษ์ เวลา 17 นาฬิกา 8 วินาที ถึงเวลา 17 นาฬิกา 17 นาที เสด็จฯ ไปยังมณฑลพิธีหน้าพระอุโบสถทรงเททองหล่อ “พระพุทธรูปทองคำแบบพุทธลีลา 4 องค์” และทรงพิมพ์ “พระเครื่องฉลอง 25 พุทธศตวรรษ” ชนิด “พระเนื้อดินผสมผงเกสร 30 องค์” เป็นปฐมฤกษ์ โหรลั่นฆ้องชัย เจ้าพนักงานประโคมสังข์แตร และดุริยางค์ สมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะ 25 รูป เจริญชัยมงคลคาถา พระราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณหลั่งน้ำพระมหาสังข์ เสด็จฯ กลับเข้าพระอุโบสถ สมเด็จพระราชาคณะ และพระราชาคณะ ถวายอดิเรกจบแล้วเสด็จฯ กลับ พระสงฆ์ 25 รูป เจริญพระพุทธมนต์จบแล้ว “พระคณาจารย์ 108 รูป” นั่งปรกปลุกเสกบรรจุพุทธาคมต่อตลอดคืน”
จากบันทึกการจัดสร้าง “พระเครื่องฉลอง 25 พุทธศตวรรษ” ได้ระบุชัดเจนว่า ประกอบพิธี ณ วัดสุทัศนเทพวราราม ทั้งหมดตั้งแต่การเสด็จฯ ทรงประกอบพิธีเททองหล่อ “พระพุทธรูปลีลาทองคำ 4 องค์” และทรงกดพระพิมพ์เนื้อดินเป็นปฐมฤกษ์จำนวน 30 องค์ จากนั้นอีก 3 เดือน หลังการจัดสร้างพระครบตามจำนวนแล้วคณะกรรมการจึงจัดพิธีพุทธาภิเษกที่พระวิหารพระศรีศากยมุนี โดยมี พระคณาจารย์ชื่อดัง 108 รูป นั่งปรกปลุกเสกภายในวิหารคด
กล่าวได้ว่าในสมัยรัตนโกสินทร์ ไม่มีพิธีกรรมการจัดสร้างพระเครื่องครั้งใดที่ยิ่งใหญ่เฉกเช่นพิธีสร้าง “พระฉลอง 25 พุทธศตวรรษ” เมื่อปี พ.ศ.2500 อีกแล้ว
ด้วยเป็นการสร้างจำนวนนับล้านองค์ และเป็นการสร้างด้วยเจตนาบริสุทธิ์ อีกทั้ง พระเกจิคณาจารย์ที่เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกมากถึง 108 รูป
พระเครื่องฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ประกอบด้วย
1.พระลีลา 25 พุทธศตวรรษ เป็นพระพุทธรูปบูชา ปางลีลา ขนาดความสูง 10 นิ้ว ใต้ฐานบัวลงไปเป็นฐานอีกชั้นหนึ่งประทับด้วย ตราครุฑ ฝีมือการออกแบบปั้นโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร
2.เหรียญพระลีลา 25 พุทธศตวรรษ จัดสร้างเป็นเนื้อทองคำ เนื้อชิน เนื้อเงิน
3.เหรียญเสมาพระลีลา 25 พุทธศตวรรษ เนื้อทองคำ
4.พระลีลา 25 พุทธศตวรรษ เนื้อแร่ (ผสมผงตะไบพระกริ่ง วัดสุทัศน์)
ทั้งนี้ “พระเครื่องฉลอง 25 พุทธศตวรรษ” ที่จัดสร้างทุกเนื้อและทุกแบบ มีจำนวนรวมกัน ทั้งสิ้น 4,842,500 องค์
นอกจากให้ประชาชนได้เช่าบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลและนำรายได้ไปสมทบทุนสร้างพุทธมณฑลแล้ว ยังนำไปบรรจุกรุตามวัดและศาสนสถานสำคัญต่างๆ เพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา
จำนวน 4,842,500 องค์ มีความหมาย คือ
1.เลข 4 ในหลักล้าน เป็นจุดเริ่มต้นมีความหมายว่า “สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าพระบรมศาสดาเอกของโลก” ตรัสรู้ “อริยสัจสี่” คือ “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค” คือหลักความเป็นจริงอันเป็นสิ่งประเสริฐทำให้ห่างไกลจากศัตรูซึ่งก็คือ (กิเลส)
2.เลข 8 และเลข 4 ในหลักแสนและหลักหมื่น มีความหมายว่า “พระอริยสัจสี่” (ความจริง 4 ประการของพระอริยเจ้า) ที่สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ ขออธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือจำนวน 84,000 พระธรรมขันธ์ ตรงกับความจริงอันประเสริฐ (4 ประการ) ที่ สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ แต่ต้องการให้จำนวนตัวเลขปิดท้ายตรงกับจำนวน พระพุทธศาสนายุกาล (อายุของพระพุทธศาสนา) 5,500 ปี จึงขยับ เลข 8 มาอยู่ที่หลักแสนและ เลข 4 มาอยู่ที่หลักหมื่น
3.เลข 2 และเลข 5 ในหลักพันและหลักร้อย ก็คือจำนวนปีที่พระพุทธศาสนายุกาล (อายุของพระพุทธศาสนา) ได้ยืนยงดำรงคงอยู่มาถึง 2,500 ปี แสดงให้เห็นว่า “พระอริยสัจสี่” หรือ “ความจริงอันประเสริฐ” ที่ สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าพระบรมศาสดาเอกของโลก ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองและทรงนำมาประกาศสั่งสอนเผยแพร่ภายในระยะเวลา 45 ปีแห่งพระชนม์ชีพของพระองค์ ได้มีอายุยืนยาวมาถึง 2,500 ปีแล้วภายหลังพุทธปรินิพพานเป็นต้นมา
(ที่มา : คอลัมน์ ข่าวสดพระเครื่อง, พระเครื่องในหลวงทรงสร้าง (4) พระเครื่องฉลอง25พุทธศตวรรษ, 7 พฤศจิกายน 2559)