เลขที่ : 1708
ประเภทพระเครื่อง : พระเหรียญ พระหล่อ
ชื่อพระเครื่อง : เหรียญพระพุทธชินราชอินโดจีน ปี 2485
สถานะ (ให้ชม/เช่าบูชา) :
ข้อมูลของพระเครื่อง : เหรียญ พระพุทธชินราชอินโดจีน ปี 2485 การจัดสร้างนั้น ทางคณะกรรมการ “พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย” เป็นผู้ริเริ่ม โดยจำลองรูปแบบจาก พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก พระพุทธรูปปางชนะมาร ที่ได้รับการยกย่องว่างดงามที่สุดในโลก โดยมี ท่านเจ้าคุณศรีสัจจญาณมุนี (สนธิ์) วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นแม่งานผู้ดำเนินการ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) ทรงเป็นองค์ประธาน และพระคณาจารย์ชื่อดังร่วมนั่งปลุกเสก ๑๐๘ รูป พิธีปลุกเสก เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2485 ณ วัดสุทัศนเทพวราราม
พระพุทธชินราชอินโดจีน ปี 2485 นับเป็นพระยอดนิยมมาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน อาจสืบเนื่องจากปัจจัยสำคัญ 4 ประการ คือ หนึ่ง .. เจตนาการสร้างที่ต้องการให้ทหารและประชาชนได้มีพระเครื่องไว้บูชาติดตัวในยามเกิดสงคราม เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจและปกป้องภยันตราย สอง .. เป็นการจำลองรูปแบบ “พระพุทธชินราช” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวเมืองพิษณุโลก ที่มีความงดงาม ศักดิ์สิทธิ์ และสำคัญต่อพุทธศาสนิกชน สาม .. ด้วยพิธีกรรมที่ถือว่ายิ่งใหญ่อลังการมากในสมัยนั้น เป็นการรวมพระเกจิคณาจารย์ชื่อดังร่วมสมัยจำนวนมากเข้าร่วมปลุกเสกอธิษฐานจิต และ สี่ .. พุทธคุณและพุทธานุภาพเป็นเลิศเป็นที่ประจักษ์ ดังบทกวีที่ว่า ...
พุทธชินราชเสริกไสร้ ปฏิมา
งามเงื่อนตามสมญา ยิ่งแท้
พุทธคุณกว่าใคร กำหนด พระเอย
คุ้มใจคุ้มภัยแน่ ศึกสิ้น อินโดจีน
การจัดสร้าง พระพุทธชินราชอินโดจีน ปี 2485 นั้น ทางคณะกรรมการ “พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย” เป็นผู้ริเริ่ม โดยจำลองรูปแบบจาก พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก พระพุทธรูปปางชนะมาร ที่ได้รับการยกย่องว่างดงามที่สุดในโลก โดยมี ท่านเจ้าคุณศรีสัจจญาณมุนี (สนธิ์) วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นแม่งานผู้ดำเนินการ โดยจัดสร้างเป็น 2 แบบ คือ แบบพระบูชา และ แบบพระเครื่อง
“แบบพระบูชา” ลักษณะเป็นพระพุทธรูปขัดเงา จำลององค์พระพุทธชินราช ขนาดพระบูชา สำหรับสักการบูชาในเคหสถาน จัดสร้างตามจำนวนการสั่งจอง ด้วยการแสดงความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมส่งเงินไปยังคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ในพระบรมมหาราชวัง
“แบบพระเครื่อง” มีการสร้างเป็น 2 ประเภท คือ วิธีหล่อ ที่เรียก “พระพุทธชินราชอินโดจีน” และ วิธีการปั๊ม หรือ “เหรียญพระพุทธชินราชอินโดจีน”
“พระพุทธชินราชอินโดจีน” เป็นพระหล่อเนื้อโลหะผสม โดยมีทองเหลืองเป็นหลัก จัดสร้างจำนวนมาก แต่คัดสภาพสมบูรณ์เหลือเพียง 84,000 องค์ ลักษณะจะคล้ายพระยอดธง ด้านหน้า จำลององค์พระพุทธชินราช มีซุ้มเรือนแก้ว เหนืออาสนะบัว 2 ชั้น ใต้ฐาน ปั๊ม “อกเลา” บานประตูพระวิหาร วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ และ “ธรรมจักร”
ส่วน “เหรียญพระพุทธชินราชอินโดจีน” สร้างเป็นเนื้อทองแดงรมดำ จำนวน 3,000 เหรียญ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊ม รูปทรงเสมา ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระพุทธชินราช มีซุ้มเรือนแก้ว เหนืออาสนะบัว 2 ชั้น ด้านหลัง เป็นรูป “อกเลา” บานประตูพระวิหาร วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ และอักษรไทยว่า “อกเลาวิหารพระ พุทธชินราช”
โดยได้ประกอบพิธีเททองหล่อตาม ‘ตำราการสร้างพระกริ่ง พระชัยวัฒน์’ ของวัดสุทัศน์อย่างสมบูรณ์ ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก ในวันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 3 ตรงกับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2485 จากนั้นประกอบพิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม ในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2485 โดยมี ท่านเจ้าประคุณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) เป็นองค์ประธาน เจ้าคุณศรีสัจจญาณมุนี (สนธิ์) เป็นแม่งาน ทั้งได้รับเมตตาจากพระเกจิคณาจารย์ชื่อดังผู้ทรงวิทยาคมในยุคนั้นรวมแล้ว 108 รูป ร่วมมอบแผ่นยันต์ และเดินทางเข้าร่วมอธิษฐานจิตปลุกเสก มีอาทิ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ) วัดเทพศิรินทร์, สมเด็จพระสังฆราช (ชื่น) วัดบวรนิเวศฯ, หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ, หลวงปู่เผือก วัดกิ่งแก้ว, หลวงพ่อจาด วัดบางกะเบา, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก, หลวงปู่นาค วัดระฆังฯ, หลวงพ่อโอภาสี อาศรมบางมด, หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ, หลวงพ่อพุ่ม วัดบางโคล่, หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว, หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ, หลวงพ่อฉาย วัดพนัญเชิง ฯลฯ เรียกได้ว่า เป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดพิธีหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทยเลยทีเดียว
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์เบื้องต้นก็เพื่อต้องการให้ทหารและประชาชน ได้มีพระเครื่องไว้บูชาติดตัวเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในยามเกิดสงครามอินโดจีนเท่านั้น แต่ปรากฏว่าหลังจากสงครามอินโดจีนสงบลง ได้เกิด ‘สงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม’ ซึ่งทหารและประชาชนที่ได้บูชา ‘พระพุทธชินราชอินโดจีน’ ต่างมีประสบการณ์ปาฏิหาริย์เป็นที่ปรากฏ จนเป็นเรื่องเล่าขานกันมากมาย ส่งผลให้ พระพุทธชินราชอินโดจีน ปี 2485 ได้รับความนิยมและแสวงหาอย่างสูงสืบมาถึงปัจจุบัน
ที่มา : ราม วัชรประดิษฐ์, สยามรัฐออนไลน์, https://siamrath.co.th/ , พระพุทธชินราชอินโดจีน พิมพ์นิยม, โพสต์ 13 เมษายน 2563