พระปิดตา วัดท้ายย่าน


... ...



เลขที่ : 1725
ประเภทพระเครื่อง : พระปิดตายอดนิยม
ชื่อพระเครื่อง : พระปิดตา วัดท้ายย่าน
สถานะ (ให้ชม/เช่าบูชา) :
ข้อมูลของพระเครื่อง : พระปิดตา พิมพ์กลาง หรือ พิมพ์กบ เนื้อแร่พลวง กรุวัดท้ายย่าน อ.สรรค์บุรี จ.ชัยนาท
“เมืองสรรค์” หรือปัจจุบัน คือ อ.สรรค์บุรี จ.ชัยนาท เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองนี้ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองพระ” ทั้งนี้เพราะเมืองนี้มีวัดร่วม ๒๐๐ วัด เป็นแหล่งรวมพระพุทธรูปสมัยอู่ทองที่มีชื่อเสียงมาก

พระพุทธรูปที่ชาวชัยนาทศรัทธานับถือมากคือ พระหลวงพ่อธรรมจักร ประดิษฐานอยู่ที่วัดเขาธรรมมามูล ส่วนพระเกจิอาจารย์ผู้มีคาถาอาคมขลัง โด่งดังไปทั่วเมืองไทย และพระเครื่องของท่านเป็นที่สุดปรารถนาของนักสะสมนิยมพระเครื่อง คือ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า

สำหรับพระเครื่องประเภท พระกรุ ก็มี พระลีลาสรรค์ และพระสรรค์นั่ง ในลักษณะพิมพ์แปลกๆ มากมาย มาเป็นอันดับหนึ่งซึ่งพบจากเมืองพระแห่งนี้ คือ พระกรุ วัดท้ายย่าน โด่งดังมีชื่อเสียงมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะมีประสบการณ์ด้านคงกระพันชาตรี อีกทั้งศิลปะของพิมพ์และเนื้อพระค่อนข้างประณีตและงดงามกว่าพระกรุอื่นๆ

วัดท้ายย่าน ปัจจุบันมีสภาพเป็นเพียงวัดร้าง ที่หลงเหลือเพียงแต่ซากโบราณ ซึ่งยังพอมีเค้าโครงเก่าหลงเหลืออยู่บ้าง เดิมวัดนี้ชาวบ้านเรียกว่า วัดทัพย่าน และที่วัดนี้ยังมีการพบ พระปิดตา สกุลหนึ่งที่ถือกำเนิดขึ้นในตอนปลายสมัยอยุธยา คือ พระปิดตาวัดท้ายย่าน ซึ่งสร้างโดยพระเกจิอาจารย์นิรนาม ที่ยังสร้างความมืดมนให้แก่วงการนักสะสมพระเครื่องมานานปี...ว่าใครกันแน่? ที่สร้างพระพิมพ์ปิดตาลงกรุไว้แต่โบราณกาล

ในวงการพระเครื่องได้จัดอันดับ พระปิดตาวัดท้ายย่าน อยู่ใน ชุดเบญจภาคีพระปิดตาเนื้อโลหะยอดนิยม ที่มีอายุความเก่ามากที่สุด เหนือกว่าพระปิดตาวัดหนัง พระปิดตาวัดทอง และ พระปิดตาวัดโมลี พระปิดตากรุนี้ทำเป็นรูปองค์พระ ภควัม ยกพระหัตถ์ทั้ง ๒ ขึ้นปิดพระเนตรทั้ง ๒ ข้าง พระที่พบจากในกรุนี้มี ๓ พิมพ์ คือ ๑.พิมพ์ใหญ่ หรือ พิมพ์ชีโบ องค์พระค่อนข้างใหญ่และหนัก ๒.พิมพ์กลาง หรือ พิมพ์กบ เป็นพิมพ์ที่มีขนาดพอดีๆ ไม่ใหญ่ไม่เล็กจนเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับพิมพ์ชีโบ ๓.พิมพ์เล็ก หรือ พิมพ์เขียด มีขนาดค่อนข้างเล็ก พระปิดตาทั้ง ๓ พิมพ์นี้ ยังมีพิมพ์ที่แยกพิสดารออกไปอีก เช่น บางองค์ด้านหลังอาจมียันต์เพิ่มขึ้นมาก็มี
ในส่วนของเนื้อพระ มิใช่มีเฉพาะแต่เนื้อชินเท่านั้น เนื้อสัมฤทธิ์ก็มี เนื้อชินเขียวและเนื้อผงเทาอมดำก็มี พระปิดตาวัดท้ายย่าน ที่สร้างด้วยเนื้อชินนั้น ได้นำ เนื้อแร่พลวง มาผสมสร้างเป็นองค์ภควัมบดี เนื้อแร่พลวง นี้จะดูเหมือนตะกั่วธรรมดาๆ แต่มีความแข็งมากกว่า เนื้อโลหะจึงแห้ง ไม่เหนียวแน่น แต่ถ้าตกลงบนพื้นแข็งๆ แล้ว จะแตกหักทันที พระปิดตากรุนี้จึงควรใส่อยู่ในกรอบหรือตลับ เพื่อความปลอดภัย และควรระวังขณะส่องพระในมือแบบเปลือยเปล่า ถ้าเกิดผิดพลาดตกลงพื้นเป็นต้องเสียของรักอย่างแน่นอน
แร่พลวง เป็นแร่ชนิดหนึ่งที่เกิดตามธรรมชาติ มีลักษณะเมื่อถลุงให้บริสุทธิ์แล้วจะมีความแข็งที่ผิวนอก แต่เนื้อในพรุน ไม่ยึดเกาะกันเเน่น เหมือนโลหะชนิดอื่นๆ เมื่อได้รับการกระแทกแรงๆ กับของแข็ง จึงมักจะชำรุดแตกหักเป็นชิ้นๆ
พระปิดตาเนื้อชิน กรุวัดท้ายย่าน หากสังเกตแล้วจะพบว่า เนื้อแร่พลวงนี้เองที่มีส่วนทำให้พื้นผิวขององค์พระทุกพิมพ์ จะมีเส้นเสี้ยนเป็นรอยย่นคล้ายหนังช้าง อยู่ตามพื้นผิวส่วนลึกของเนื้อองค์พระ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง รอยย่นแบบผิวหนังช้าง นี้จะปรากฏให้เห็นใน พระแท้ ทุกพิมพ์และทุกองค์ บางองค์เกิดรอยย่นทั่วทั้งองค์พระ บางองค์มีรอยย่นเพียงเล็กน้อยก็มี
จุดสังเกต รอยย่นแบบผิวหนังช้างนี้ เกิดขึ้นจากเหตุผลหลายประการ เช่น การเซตตัวของเนื้อพระ การทำปฏิกิริยากันระหว่างมวลสารของโลหะหลากหลาย รวมทั้งแร่พลวง ขณะหล่อหลอมรวมตัวเป็นเนื้อพระเดียวกันด้วยความร้อนสูง หลังจากนั้นเมื่อเนื้อพระเย็นตัวลงจึงเกิดการหดตัว โลหะหลากหลายชนิดมีมวลสารต่างกัน การหดตัวย่อมไม่เท่ากัน ดังนั้น ผิวโลหะเนื้อพระที่คลายความร้อนลดลง มีการหดตัว ทำให้เกิดรอยย่นคล้ายรอยเส้นเสี้ยนแตกเล็กๆ รูปพรรณสัณฐานของเส้นเสี้ยนรอยย่น ย่อมมีรูปลักษณ์ที่ไม่แน่นอน เป็นไปเองตามแต่ธรรมชาติ อาจจะมากหรือน้อยในพระแต่ละองค์ไม่แน่นอน

พระปิดตาวัดท้ายย่าน นับเป็นพระกรุพิมพ์เดียวที่เป็นพระเนื้อชินสร้างบรรจุกรุไว้ในแบบพิมพ์พระปิดตา ที่มีอายุการสร้างพอๆ กับ พระกริ่งคลองตะเคียน หรือ พระปิดตาพิชัยดาบหัก ดังนั้น นักสะสมพระเนื้อชิน ส่วนมากจึงนิยมกันอย่างขวาง จนได้รับการจัดอันดับเป็น พระเนื้อชินยอดนิยม และยังเป็น ๑ ใน ๕ สุดยอดของนักสะสมพระสายพระปิดตา ซึ่งคนรุ่นเก่าก่อนเรียกขานกันในวงการพระว่า พระปิดตา บ่หยั่น นักสู้รุ่นลายครามแบบลุยหนักถึงไหนถึงกัน จึงต่างเชื่อมั่นในพุทธคุณอันยอดเยี่ยม จนกล่าวกันว่า “แมลงวันไม่ได้กินเลือด” คนสมัยก่อนจึงนิยมใช้บูชาติดตัวป้องกันสรรพภัยร้ายมานานแล้ว
(ที่มา : ชาติ วิศิษฏ์สรอรรถ, พระเครื่อง, คม ชัด ลึก, 23 ก.พ. 2555)








Copyright © 2019 Form Webmaster Amuletherritage.
กลับด้านบน