เบี้ยแก้หลวงปู่รอด วัดนายโรง


... ...



เลขที่ : 0831
ประเภทพระเครื่อง : เครื่องรางของขลัง
ชื่อพระเครื่อง : เบี้ยแก้หลวงปู่รอด วัดนายโรง
สถานะ (ให้ชม/เช่าบูชา) :
ข้อมูลของพระเครื่อง : เบี้ยแก้หลวงปู่รอด วัดนายโรง ธนบุรี
ในบรรดา "เบี้ยแก้" ที่เกจิอาจารย์ชื่อดังมากมายนิยมสร้างกันตามสูตรโบราณเฉพาะของแต่ละท่านนั้น ล้วนทรงพุทธคุณเป็นที่ปรากฏทั้งสิ้น แต่ที่ได้รับความนิยมยกย่องและมีชื่อเสียงที่สุดของไทย ก็คือ เบี้ยแก้ของหลวงปู่รอด วัดนายโรง ธนบุรี หนึ่งใน "เบญจภาคีประเภทเครื่องรางของขลัง"
คนโบร่ำโบราณได้เคยแต่งไว้เป็นคำกลอนอย่างคล้องจอง ถึงพุทธคุณอันลือลั่นเป็นที่ปรากฏ ดังนี้ ...
" หมากดีที่วัดหนัง ถ้าเบี้ยขลังวัดนายโรง
ไม้ครูคู่วัดอินทร์ ส่วนมีดบินวัดหนองโพธิ์
พิสมรวัดพวงมาลัย ครั่งเหลือร้ายวัดโตนดหลวง
ราหูคู่วัดศีรษะทอง เเหวนอักขระต้องวัดหนองบัว
ลูกเเร่ที่วัดบางไผ่ ฤทธิ์เหลือร้ายหาใดปาน
ทุกสิ่งล้วนเป็นมงคล ทั่วทุกคนควรค้นหา
ติดกายยามยาตรา ภัยมิกล้ามาเเผ้วพาน "
หลวงปู่รอด เป็นชาวบ้านบางพรม เขตอำเภอตลิ่ง ชัน ธนบุรี อุปสมบทที่วัดเงิน หรือวัดรัชฎาธิษฐาน ที่คลองบางพรม อันเป็นสำนักที่มีชื่อเสียงทางด้านวิปัสสนากรรมฐาน ฝ่ายอรัญวาสี
ต่อมาท่านได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดนายโรง จนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสองค์ที่ 2 ของวัดนายโรง ด้วยความที่ท่านมีความเชี่ยวชาญด้านวิปัสสนาธุระระดับสูง และล่ำลือถึงคุณวิเศษทางพุทธาคมและวิทยาคม จึงได้รับการนับถือในแถบย่านคลองบางกอกน้อย หลวงปู่รอดเป็นพระคณาจารย์ในยุคสมัยเดียวกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒา จารย์ (โต พรหมรังสี) และ หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง เบี้ยแก้ ของหลวงปู่รอด จะใช้วัตถุอาถรรพ์ต่างๆ เป็นองค์ประกอบ อันได้แก่ เบี้ยพู ปรอท ชันโรงใต้ดิน (เป็นสัตว์ตระกูลผึ้งนำรังมาใช้ผสมสร้าง) นอกจากนี้ยังมีแผ่นตะกั่วทุบ ซึ่งท่านได้นำวัตถุทั้งหมดมาปลุกเสกลงอักขระขอมโบราณ กำกับด้วยคาถา "พระเจ้า 16 พระองค์" และ "คาถาตรีนิสิงเห" เมื่อเสร็จพิธีก็จะมอบให้กับสานุศิษย์พกติดตัว
คุณลักษณะ เฉพาะที่พิเศษของ "เบี้ยแก้ของหลวงปู่รอด" ที่ใช้เป็นหลักในการพิจารณา คือ ท่านมักจะคัดตัวเบี้ยที่มีขนาดไล่เลี่ยกันและเลือกตัวสมบูรณ์ตามสูตรโบราณ คือ มีฟันเบี้ยครบ 32 ซี่ เหมือนมนุษย์ ถ้าหากนำเบี้ยแก้มาสั่นฟังข้างๆ หู จะมีเสียงดังคลิกเบาๆ อันเป็นเสียงของปรอทที่บรรจุไว้ภายใน
นอกจากนี้ ที่ใต้ท้องเบี้ยจะต้องมีรังชันโรงใต้ดินปิดและเกาะติดแน่นอยู่ในสภาพเก่าและแห้ง ซึ่งเบี้ยแก้ส่วนใหญ่จะหุ้มด้วยแผ่นตะกั่วทุบทั้งลูก มีบ้างบางตัวอาจเปิดด้านหลังเบี้ยไว้ หรือบางตัวอาจไม่มีแผ่นตะกั่วหุ้มก็มี หากมีแผ่นตะกั่วหุ้มจะมีอักขระเลขยันต์เรียงเป็นระเบียบเรียบร้อย และต้องดูความเก่าให้ออกตามวันเวลากว่า 100 ปี
ประการสำคัญ "เบี้ยแก้ หลวงปู่รอด" ส่วนใหญ่จะถักเชือกหุ้มทับเอาไว้ มีทั้งหุ้มปิดหลังเบี้ยและเปิดหลังเบี้ย เบี้ยที่ถักเชือกหุ้มนั้นส่วนมากจะทายางลูกมะพลับ บ้างลงรัก หรือชุบรักเอาไว้อีกชั้นหนึ่ง เพื่อความคงทน ยางมะพลับหรือรักที่ลงจะมีลักษณะแห้ง มีความเก่า มีสีดำอมแดงไม่ดำสนิททีเดียว หากมีการลงรักปิดทองให้สังเกตความเก่าของรักกับทองให้เป็น และเบี้ยแก้ของท่านจะปรากฏทั้งแบบมีห่วงและไม่มีห่วง บางตัวยังทำพิเศษบรรจุตะกรุดเอาไว้ด้วย เรียกว่าหายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร
ถ้าลองสังเกตเบี้ยแก้ของ "วัดนายโรง" กับ "วัดกลางบางแก้ว" จะเห็นว่ามีลักษณะหลายๆ อย่างที่คล้ายคลึงกัน รวมทั้งขนาดที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งอาจเป็นเพราะได้วิชามาจากทางลุ่มแม่น้ำนครชัยศรีเหมือนกันก็เป็นได้ เพราะเมื่อเทียบเคียงอายุอานามของหลวงปู่แขกและหลวงปู่ทองแล้วน่าจะเป็นพระเกจิรุ่นเดียวกัน จึงเป็นไปได้ว่าอาจจะได้รับการถ่ายทอดมาจากสำนักเดียวกัน แต่ก็พอสังเกตความแตกต่างระหว่าง 2 สำนัก ได้ที่ "เชือกถัก" เพราะลายถักจะไม่เหมือนกัน
(ที่มา : ราม วัชรประดิษฐ์, ข่าวสด, 09 มิถุนายน พ.ศ. 2558)








Copyright © 2019 Form Webmaster Amuletherritage.
กลับด้านบน