รูปหล่อบูชา หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง


... ...



เลขที่ : 1027
ประเภทพระเครื่อง : พระพุทธรูปบูชา
ชื่อพระเครื่อง : รูปหล่อบูชา หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง
สถานะ (ให้ชม/เช่าบูชา) :
ข้อมูลของพระเครื่อง : รูปหล่อบูชา หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง สิงห์บุรี รุ่นแรก ที่ฐานด้านหน้าสลักชื่อ “หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง สิงห์บุรี” และ ยันต์
ประวัติ หลวงพ่อแพ เขมังกโร
หลวงพ่อแพ เขมังกโร เป็นชาวจังหวัดสิงห์บุรี ท่านมีนามเดิมว่า "แพ ใจมั่นคง" เกิดเมื่อวันจันทร์ ที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๘ ตรงกับ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง ณ ตำบลพิกุลทอง อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี บิดา-มารดา นายเทียนและนางหน่าย ใจมั่นคง เมื่ออายุได้ ๘ เดือน มารดาได้ถึงแก่กรรม บิดาจึงยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของนายบุญ และนางเพียร ขำวิบูลย์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นอา เมื่ออายุได้ ๑๑ ปี นายบุญได้นำเด็กชายแพไปฝากอยู่วัดกับสำนักอาจารย์ป้อม เพื่อที่จะศึกษาเล่าเรียนตามแบบโบราณนิยม นอกจากนั้น ยังได้เรียนหนังสือ มูลบทบรรพกิจ ทางธรรมก็มีพระมาลัยสูตร และยังได้หัดอ่านพระธรรมเจ็ดคัมภีร์ เมื่ออายุได้ ๑๔ ปี นายบุญได้ส่งไปศึกษาต่อที่สำนักวัดอาจารย์ อาจารย์ สม ภิกษุชาวเขมร วัดชนะสงคราม กรุงเทพฯ การศึกษาในกรุงเทพฯขั้นแรกได้เริ่มเรียนหนังสือโบราณท่องสนธิ เรียนมูลกัจจายนสูตร เป็นเวลา ๑ ปี ต่อมา ก็ไปเป็นนักเรียนบาลีไวยากรณ์ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพฯ
เมื่อศึกษาหาความรู้จนอายุได้ ๑๖ ปี ก็กลับบ้านเกิด เพื่อบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๓ ณ วัดพิกุลทอง ตำบลพิกุลทอง อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี โดยมีพระอธิการพันจันทสโร เจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง เป็นพระอุปัชฌาย์ครั้นเมื่อบวชเป็นสามเณรแล้วก็ได้เดินทางกลับไปอยู่วัดชนะสงครามตามเดิม และได้ศึกษาบาลีไวยากรณ์ต่อไปอีก จนสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร ภายหลังจากสอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยคแล้ว การศึกษาด้านพระปริยัติธรรมก็ต้องยุติลง เนื่องจากนัยน์ตาเจ็บปวดอย่างรุนแรง แต่ด้วยความที่เป็นผู้มีใจใฝ่การศึกษา ท่านจึงได้ศึกษาและปฏิบัติสมถกัมมัฎฐาน วิปัสสนากัมมัฎฐานในสำนักของพระครูภาวนา วัดเชตุพน จนชำนาญ และดำเนินการสั่งสอนให้แก่ประชาชนทั่วไป
สามเณรเปรียญแพ ขำวิบูลย์ได้ทำการอุปสมบทเมื่ออายุครบ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ในวันขึ้น ๖ ค่ำ ปีขาล ตรงกับวันพุธที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๙ ณ พระอุโบสถวัดพิกุลทอง โดยมีพระมงคลทิพย์มุนี เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิ์ราชาวาส กรุงเทพฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านพระครูสิทธิเดช วัดชนะสงคราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านเจ้าอธิการอ่อน วัดจำปาทอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "เขมังกะโร" (แปลว่า ผู้ทำความเกษม) ภายหลังจากอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์แพ เขมังกะโร หรือมหาแพ ก็ได้เดินทางกลับสู่วัดชนะสงคราม เพื่อตั้งใจศึกษาทางด้านพระปริยัติธรรม ให้ได้ในระดับสูงที่สุด เพื่อที่จะได้นำความรู้ ความสามารถที่ได้ฝักใฝ่ศึกษาเล่าเรียนนั้น นำไปสร้างสรรค์ให้เกิดคุณค่า และประโยชน์ต่อชุมชนและพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ พระภิกษุแพ เขมังกะโร พยายามที่จะศึกษาเล่าเรียนหาความรู้ อ่านหนังสือตำราเรียนอยู่เสมอ
ในปี พ.ศ.๒๔๗๔ อาจารย์หยด พวงมสิต เจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง ได้ลาสิกขาบท ทำให้ตำแหน่งว่างลง ชาวบ้านพิกุลทอง และชาวบ้านจำปาทอง จึงนิมนต์ให้พระภิกษุแพมารับเป็นเจ้าอาวาสในเดือน เมษายน พ.ศ.๒๔๗๔ ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุเพียง ๒๖ ปี นับตั้งแต่พระภิกษุแพ ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดพิกุลทอง ได้บำเพ็ญประโยชน์ภายในวัด และสาธารณประโยชน์ทั่วไป พอสรุปได้ดังนี้ ดำเนินการก่อสร้างถาวรวัตถุภายในวัด ได้แก่ พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ หอประชุมกุฏิสงฆ์ หอไตร หอฉัน ศาลาวิปัสสนา โรงฟังธรรม ฌาปนสถาน ศาลาเอนกประสงค์ เขื่อนหน้าวัด ฯลฯ ท่านยังสร้างความเจริญให้ท้องถิ่นอีกมากมายเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ ทั้ง โรงพยาบาล ที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจ สถานีอนามัย โรงเรียนประชาบาล สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดจนอาคารผู้ป่วยของโรงพยาบาลสิงห์บุรีที่เป็นอนุสรณ์สืบมาจนปัจจุบัน คือ อาคารหลวงพ่อแพ 80 ปี อาคารหลวงพ่อแพ 86 ปี (อาคารเอ็กซเรย์) อาคารหลวงพ่อแพ 90 ปี และ อาคารหลวงพ่อแพ เขมังกโร ที่โดดเด่นเป็นสง่าภายในโรงพยาบาลสิงห์บุรี
หลวงพ่อแพ ได้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์อย่างเอนกอนันต์ และได้อุทิศเวลาส่วนใหญ่ให้แก่ประชาชนผู้เดือดร้อนหรือตกทุกข์ได้ยากตลอดมา ท่านเปรียบเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทรของประชาชนทั่วไปได้แผ่บารมีช่วยเหลือกิจการต่างๆเป็นที่เคารพศรัทธาของสาธุชนโดยถ้วนหน้า มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ท่านได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์เรื่อยมา สมณศักดิ์สุดท้ายเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมมุนี ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2542 รวมสิริอายุ 94 ปี พรรษา 73 ปัจจุบัน สรีระของหลวงพ่อแพยังคงประดิษฐาน ณ วัดพิกุลทอง เพื่อให้ญาติโยมและพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้สักการบูชาสืบมา
(ที่มา : dharma-gateway.com)








Copyright © 2019 Form Webmaster Amuletherritage.
กลับด้านบน