เทวรูป พระนารายณ์ทรงพญาครุฑยุดพญานาค


... ...
... ...



เลขที่ : 1088
ประเภทพระเครื่อง : พระพุทธรูปบูชา
ชื่อพระเครื่อง : เทวรูป พระนารายณ์ทรงพญาครุฑยุดพญานาค
สถานะ (ให้ชม/เช่าบูชา) :
ข้อมูลของพระเครื่อง เทวรูป พระนารายณ์ทรงพญาครุฑยุดพญานาค ปรากฏให้เห็นสนิมสีฟ้าอมเขียว ขนาดความสูง 20 เซนติเมตร
พระนารายณ์ หรือที่เรียกกันอีกพระนามหนึ่งว่า “พระวิษณุ” ถือเป็น ๑ ใน ๓ ของเทพผู้ยิ่งใหญ่(ตรีมูรติ) ในศาสนาฮินดู เป็นเทพผู้รักษาและบริหารโลก รูปเคารพของพระนารายณ์ทำเป็นรูปเทพที่มีพระเศียรเดียว มี ๔ กร ทรงถือเทพศาสตราวุธ ได้แก่ จักร สังข์ คทา และธรณี หรือ ดอกบัว
ครุฑ เป็นเทพพาหนะของพระนารายณ์ ถือเป็นอมนุษย์จำพวกกึ่งสัตว์กึ่งเทพ ครุฑเป็นสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาสัตว์ประเภทนก มีรูปร่างลักษณะครึ่งนกครึ่งคน คือ มีหัว ปีก เล็บ และปากเหมือนนกอินทรี ตัวและแขนเหมือนคน หน้าขาว ปีกแดง ตัวเป็นสีทอง หน้าตาท่าทางดุร้าย เครื่องประดับที่สวมมีมงกุฎทรงน้ำเต้า กรองศอ พาหุรัด ทองกร และกำไล นุ่งผ้าชายห้อยหน้าลงมา ไม่สวมเสื้อ
ในมหาภารตะกล่าวถึงกำเนิดของครุฑว่า เป็นโอรสองค์หนึ่งของพระกัศยปมุนี กับนางวินตา เทพธิดาแห่งท้องฟ้า(ธิดาของพระทักษะ) ซึ่งพระทักษะได้ยกธิดา จำนวน ๑๓ องค์ให้กับพระกัศยปมุนี ธิดาจำนวน ๑๓ องค์นี้ มีนางวินตา มารดาของครุฑ และนางกัทรุ มารดาของนาครวมอยู่ด้วย ครุฑกับนาคจึงเป็นพี่น้องต่างมารดากัน ตอนหลังครุฑกับนาคกลายเป็นศัตรูกัน เนื่องจากนางกัทรุมารดาของนาคได้ชวนนางวินตามารดาของครุฑเล่นทายสีม้าของพระสุริยาทิตย์(พระอาทิตย์) โดยมีเดิมพันว่า ถ้าใครแพ้จะต้องตกเป็นทาสของอีกฝ่ายหนึ่ง นางวินตาก็ตกลง และทายว่าม้าของพระสุริยาทิตย์เป็นสีขาว ส่วนนางกัทรุทายว่าเป็นสีดำ ด้วยความกลัวว่าจะแพ้นางวินตาเพราะม้าของพระสุริยาทิตย์เป็นสีขาว ตกกลางคืนนางกัทรุก็ลอบส่งพวกนาคโอรสของตนไปพ่นพิษใส่ม้าของพระสุริยาทิตย์ให้มีสีดำ นางวินตาจึงแพ้นางกัทรุ และต้องเป็นทาสของนางกัทรุ
ต่อมาครุฑต้องการช่วยเหลือมารดาให้พ้นจากการเป็นทาส แต่จะต้องไปเอาน้ำอมฤตมาให้พวกนาคแลกตัวนางวินตา ครุฑจึงไปขโมยน้ำอมฤตที่สรวงสวรรค์ ซึ่งพระอินทร์ผู้เป็นประธานแห่งเทวดา ผู้ทำหน้าที่เฝ้าน้ำอมฤต ครุฑรบกับพระอินทร์เพื่อแย่งน้ำอมฤต พระอินทร์แพ้ ปวงเทพจึงอัญเชิญพระนารายณ์มาช่วย พระนารายณ์กับครุฑรบกัน ไม่มีใครแพ้ไม่มีใครชนะ
สุดท้ายจึงตกลงเป็นพันธมิตรกัน โดยครุฑยอมเป็นพาหนะให้พระนารายณ์เมื่อต้องการเสด็จไปที่ต่างๆ แต่เวลาที่พระนารายณ์ประทับในพระวิมานครุฑจะต้องอยู่เหนือพระนารายณ์ และครุฑได้ขอพรจากพระอินทร์อีกว่าให้พงศ์พันธุ์ของนาคเป็นอาหารของครุฑ พระอินทร์ก็ทรงประทานพรให้เป็นไปตามนั้น
ครุฑมีบทบาทสำคัญทางด้านประติมานวิทยาทั้งในศาสนาฮินดู(ศาสนาพราหมณ์) และพระพุทธศาสนา ตามคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ ครุฑเป็นทั้งพาหนะและผู้รับใช้ของพระนารายณ์ รูปครุฑที่ปรากฏในงานศิลปกรรม มักจะเกี่ยวข้องกับนาค ในลักษณะรูปครุฑยุดนาค ที่ตกแต่งในสถาปัตยกรรมตามหลังคา หน้าจั่ว หน้าบันของปราสาท ราชมณเฑียร พระอุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ ฯลฯ
คติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูที่เกี่ยวกับครุฑที่สืบทอดมาในราชอาณาจักรไทยเชื่อว่า พระมหากษัตริย์ คือ พระนารายณ์หรือวิษณุผู้เป็นเจ้าอวตารลงมาเกิดเพื่อทรงปราบทุกข์เข็ญ ครุฑซึ่งเป็นเทพพาหนะของพระนารายณ์ จึงได้รับการยกย่องนำมาเป็นภาพเขียนปั้น แกะสลักตามจินตนาการของช่าง ดังจะพบภาพครุฑประดับตามวัดวาอาราม สถานที่สำคัญของทางราชการ สิ่งของเครื่องใช้และราชพาหนะสำหรับพระมหากษัตริย์ เช่น รถหลวง เรือหลวง ฯลฯ รวมทั้งธงที่สำคัญ เช่น ธงมหาไชยธวัช และธงมหาราช อันเป็นเครื่องหมายแทนองค์พระมหากษัตริย์ หนังสือสำคัญของทางราชการ ดวงตราพระราชลัญจกร ล้วนแต่ทำเป็นรูปครุฑติดไว้เพื่อแสดงว่าพระมหากษัตริย์คือสมมุติเทพนั่นเอง
รูปครุฑในศิลปกรรมขอม ประติมากรรมลอยตัวพบน้อย มักจำหลักเป็นภาพนูนต่ำ ทับหลังที่ปรากฏในราชอาณาจักรไทยมีลักษณะคล้ายกับทับหลังที่พบในราชอาณาจักรกัมพูชา คือมักเป็นรูปครุฑยุดนาค ในสมัยแรกๆ ครุฑมีใบหน้าเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง พุงพลุ้ย ใช้มือทั้ง ๒ ข้างจับคอนาคไว้ ต่อมาครุฑมักมีเศียรเป็นนก สวมกระบังหน้า มีปีกคล้ายกับปีกนก มือทั้งสองข้างยุดหางนาคไว้ เช่น รูปครุฑที่ปรากฏบนทับหลังในศิลปะขอมแบบบาแค็ง จากปราสาทพนมวัน จังหวัดนครราชสีมา ทับหลังในศิลปะขอมแบบแปรรูปจากจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และทับหลังในศิลปะขอมแบบนครวัด จากปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ รูปครุฑซึ่งประดับที่บริเวณชั้นเชิงบาตรที่ปราสาทประธานปราสาทพิมายแต่ละด้าน ทำท่าแบกซึ่งเป็นของแปลกไปจากศิลปะแบบขอมโดยทั่วไปในช่วงเวลานั้น นอกจากนั้นที่ปราสาทพนมรุ้งยังปรากฏภาพจำหลักรูปครุฑยุดนาคหลายเศียรที่โคนเสาติดกับผนังบางต้นของปราสาทพนมรุ้ง
นอกจากนี้เรายังพบครุฑในลักษณะอื่นๆ อีก คือ ในฐานะเป็นผู้ช่วยพระรามพระลักษณ์ เช่น ทับหลังสลักภาพพระรามพระลักษณ์ถูกศรนาคบาศ ที่ได้มาจากปราสาทพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ทำเป็นรูปครุฑขนาดใหญ่อยู่ตรงกลางทับหลัง แสดงท่ากำลังเหาะลงมาช่วยพระราม พระลักษณ์ซึ่งถูกศรนาคบาศรัดอยู่และในอีกรูปแบบหนึ่ง ได้แก่ ภาพครุฑในท่าแบก ซึ่งเรียกว่าครุฑแบก มักจะสลักเรียงเป็นแนวอยู่ได้ภาพเล่าเรื่องนิยมมากในศิลปะขอม ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นต้นมา เช่นเดียวกับภาพหงส์และสิงห์ เช่นในภาพสลักบนทับหลังเล่าเรื่องพระโพธิสัตว์และบริวารในศาสนาพุทธ นิกายมหายานพบที่ปราสาทพิมาย ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย คงจะเป็นการแสดงสัญลักษณ์ที่หมายถึงสวรรค์และผู้พิทักษ์ปกป้องนั้นเอง
(ที่มา : เอกสารชุดสาระน่ารู้จากโบราณวัตถุ เรื่อง เทพประจำทิศ เทพพาหนะ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร)








Copyright © 2019 Form Webmaster Amuletherritage.
กลับด้านบน