เลขที่ : 1188
ประเภทพระเครื่อง : พระพุทธรูปบูชา
ชื่อพระเครื่อง : เทวรูป เหวัชระ
สถานะ (ให้ชม/เช่าบูชา) :
ข้อมูลของพระเครื่อง : เทวรูป เหวัชระ ศิลปะเขมร ส่วนใหญ่สร้างขึ้นเนื่องในพุทธศาสนาแบบมหายานนิกายวัชรยานหรือพุทธตันตระ ตามคติความเชื่อในลัทธิศาสนา สำหรับผู้เลื่อมใสศรัทธาใช้เป็นสื่อในการเข้าถึงเทพองค์นั้น เพื่อให้ช่วยคุ้มครอง ขจัดความเลวร้าย หรือเพื่อให้มีอิทธิฤทธิ์ ความสูงประมาณ 57 เซนติเมตร
คำว่า “เหวัชระ” (Hevajra) เป็นภาษาสันสกฤต หมายถึง เทพผู้พิทักษ์ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ยิดัม” เป็นเทพที่มีความสำคัญองค์หนึ่งในพุทธศาสนา นิกายมหายาน สกุลวัชรยาน เชื่อกันว่าถือกำเนิดขึ้นมาจากพระธยานิพุทธอักโษภยะ มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองพุทธศาสนา มีอำนาจในการปราบภูตผีร้ายต่าง ๆ ไม่ให้ทำอันตรายมนุษย์ ปรากฏความเชื่อและการนับถือขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศอินเดีย ช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-18 สมัยราชวงศ์ปาละ
ในคัมภีร์เหวัชระตันตระ (Hevajra Tantra) ระบุถึงลักษณะทางประติมานวิทยาของพระเหวัชระว่า มีพระวรกายสีน้ำเงิน มี 8 พระเศียร แต่ละพระเศียรมี 3 พระเนตร มี 16 พระกร โดยพระกรทั้ง 16 พระกรถือถ้วยกะโหลก ซึ่งถ้วยกะโหลกด้านขวาบรรจุสัตว์โลก ส่วนถ้วยกะโหลกด้านซ้ายบรรจุเทพเจ้าแห่งแผ่นดิน ซึ่งถ้วยกะโหลกทั้ง 16 ใบ เป็นสัญลักษณ์ของความว่างเปล่าทั้ง 16 หรือศูนย์ตา มีพระบาท 4 พระบาท และพระเหวัชระมักแสดงออกในท่ายับยุม หรือยับยัม (กอดรัด) พร้อมศักติเสมอ
ประติมากรรมรูปเคารพพระเหวัชระที่พบมีลักษณะเฉพาะ 2 รูปแบบ คือ รูปแบบกปาละธร (Kapaladhara) ถือถ้วยกะโหลก และ รูปแบบศาสตราธร (Shastradhara) ถืออาวุธ ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบที่พบมักมีพระกรตั้งแต่ 2, 4, 6, และ 16 พระกร และยังมีรูปแบบอื่น ๆ ที่นิยมอีก เช่น เหวัชระมณฑล ที่ถูกกล่าวถึงในคัมภีร์เหวัชระตันตระระบุว่า พระเหวัชระมี 8 พระเศียร ทุกพระเศียรมี 3 พระเนตร มี 4 พระบาท 16 พระกร ยืนเหยียบอยู่บนมาร นอกจากนี้ตามคติตันตระ ‘เหวัชระ’ ยังประกอบไปด้วย ศักติ หรือ เทวสตรี อันเป็นบริวารเรียกว่า ‘นางโยคินี’ รวม 8 ตน นางโยคินีเหล่านี้มีหน้าที่ทำลายล้างอวิชชาหรือสิ่งชั่วร้าย และรักษาทิศทั้งแปดของจักรวาล
ที่มาข้อมูล : นางสาวธีรนาฎ มีนุ่น ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ และนางสาวจันทร์สุดา ทองขุนแก้ว นักวิชาการวัฒนธรรม ฝ่ายวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา, https://www.finearts.go.th/ , พระเหวัชระ.
สำหรับสยามประเทศนั้น รูปลักษณ์ของ “เหวัชระ” ส่วนใหญ่ที่มักจะพบเห็นจะเป็นศิลปะปลายเขมรเมืองพระนคร และมีศิลปะของทิเบตและจีนปรากฏให้เห็นบ้าง แต่ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกันกล่าวคือ เป็นรูปเทพมี 8 เศียร 16 กร และ มีพระบาท 4 ข้าง ทรงพัสตราภรณ์แบบเทวะ พระเศียรเรียงสองฟากข้างละ 3 เศียร ส่วนตรงกลางมีเศียรประธานและทับเบื้องบนอีก 1 เศียร ในพระหัตถ์ทั้ง 16 ข้าง ถือกระโหลกศีรษะ บางศิลปะพระบาทนั้นอาจจะอยู่ในท่าทรงยืนเหยียบซากศพซากอสูรไว้ทั้ง 2 พระบาท หรือ ในท่าร่ายรำแบบอรรถปรยังถ์ คือ พระชงฆ์ข้างซ้ายงอขึ้นเล็กน้อย ส่วนพระชงฆ์ขวาพับขึ้น หรือ ในท่ายืนเหยียบอสูรข้างเดียว หรือ ในท่ายืนสองพระบาทก็มี และเชื่อกันว่าทรงมีพระฉวี (สีผิว) เป็นสีน้ำเงิน
นับได้ว่า “เหวัชระ” เป็นประติมากรรมที่มีลักษณะพิเศษ แสดงถึงการผสมผานของศิลปะและความเชื่อของฮินดูและพุทธอย่างลงตัว ในแถบบ้านเรามีปรากฏทั้งในลักษณะของศิลปะแบบนูนต่ำ ประติมากรรมลอยตัว และในรูปแบบของพระเครื่องทั้งเนื้อดินเผา เนื้อชิน เนื้อสำริด และบุทอง นับเป็นพุทธศิลปะที่มีความหมายในตัวและหายากยิ่งอีกประเภทหนึ่ง
ที่มาข้อมูล : ราม วัชรประดิษฐ์, http://www.arjanram.com/, ‘เหวัชระ’ ในสยามประเทศ.