เหรียญจักรเพชร ท่านท้าวมหาพรหมธาดา วัดดอน


... ...



เลขที่ : 1443
ประเภทพระเครื่อง : พระเหรียญ
ชื่อพระเครื่อง : เหรียญจักรเพชร ท่านท้าวมหาพรหมธาดา วัดดอน
สถานะ (ให้ชม/เช่าบูชา) :
ข้อมูลของพระเครื่อง : เหรียญจักรเพชร ท่านท้าวมหาพรหมธาดา วัดดอน ยานนาวา จัดสร้างโดย อาจารย์เณร วิรัช ลุปซาร์ ในปี พ.ศ.2508
เหรียญจักรเพชร วัดดอน ยานนาวา กรุงเทพฯ นับเป็นสุดยอดเหรียญเทพเจ้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเหรียญหนึ่ง จัดสร้างโดย อาจารย์เณร วิรัช ลุปซาร์ ในปี พ.ศ.2508 เป็นเหรียญพระพรหม มี 2 เนื้อ คือ เนื้อฝาบาตร และ เนื้ออัลปาก้า มีพิธีปลุกเสกอย่างเข้มขลังทั้งสายพุทธและสายเทพในหลายวาระ พร้อมทั้งบรรจุศาสตร์สำคัญต่างๆ อย่างครบเครื่องครบครัน ทั้ง เมตตามหานิยม แคล้วคลาด คงกระพันชาตรี ที่สำคัญ คือ เป็นเหรียญที่สร้างประสบการณ์เป็นที่ปรากฏมากมาย
“เหรียญจักรเพชร” สร้างโดยฝีมือของกองกษาปณ์กรมธนารักษ์ ลักษณะเป็นเหรียญทรงกลม จัดสร้างเป็น 2 เนื้อ คือ เนื้อฝาบาตร และ เนื้ออัลปาก้า ด้านหน้า มีลูกประคำ 108 ลูกโดยรอบเหรียญ ตรงกลางเป็นพระรูปองค์สมเด็จพระบรมครูท่านท้าวมหาพรหมธาดา ที่ฐานพระรูปมีอักษรไทยว่า “ท่านท้าวมหาพรหมธาดา” ล่างสุดเป็น “ยันต์ตานกแมว” ด้านข้างทั้ง 2 ข้าง มีอักขระขอมโบราณ ส่วน ด้านหลัง มีลูกประคำ 108 ลูกโดยรอบเหรียญเช่นกัน ตรงกลางเป็น “จักรเก้า” มีรัศมีรอบจักร กลางจักรป็น “ยันต์ตรีนิสิงเห” ด้านบนมีอักษรไทยว่า “เหรียญจักรเพชร” เหนือขึ้นไปเป็น “พระหมอุณาโลม” รอบจักรมี คชสีห์ ราชสีห์ เสือ และอักษรขอมโบราณ โดยรอบ อาจกล่าวได้ว่าเหรียญจักรเพชร ก็คือ “เหรียญรูปพระพรหมธาดา” นั่นเอง นอกจากนี้ “องค์สมเด็จพระบรมครูท่านท้าวมหาพรหมธาดา” ได้ทรงเมตตาประทานพร “เหรียญจักรเพชร” ไว้ว่า
“ผู้ใดนำเหรียญจักรเพชรไปสักการะบูชา ผู้นั้นย่อมมีพระพรอันบริสุทธิ์และสูงสุดของบิดา มารดา ติดตัวอยู่เสมอไป "
เสมือนคำกล่าวที่ว่า “พ่อแม่เป็นดั่งพระพรหมของลูก” เมื่อท่านให้พรเรา พรนั้นก็จะเป็นพรที่ศักดิ์สิทธิ์กว่าพรทั้งปวง เฉกเช่น พรของพระพรหม “เหรียญจักรเพชร” จึงเปรียบเหมือนตัวแทนแห่งความรัก ความเมตตา ความกรุณา ที่พ่อแม่มีให้กับลูก ดังนั้น เมื่อผู้ใดกราบไหว้บูชาก็จะได้รับพรอันประเสริฐอยู่กับตนตลอดเวลา

อัตโนประวัติของ อาจารย์เณร วิรัช ลุปต์ซา หรือ มหาฤษีนารทะ ราชโยคะ นั้น ท่านเกิดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2490 ย่านวัดดอน ยานนาวา กรุงเทพฯ ท่านมีคุณปู่เป็นชาวเยอรมัน ชื่อ เฟอร์โด ลุปต์ซ่า เคยเป็นครูสอนเกษตรในไทย ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง บิดาชื่อ อาจารย์วินิจ ลุปต์ซ่า หรือ มหาฤษีนาร โษตตะมะ หรือที่เรียกกันว่า “อาจารย์พ่อ”
อาจารย์เณรวิรัช ลุปต์ซ่า มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก อายุได้ 7 ขวบ ท่านก็บวชเป็นสามเณร ศึกษาพระธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนั้น ท่านยังสนใจในด้านไสยศาสตร์เป็นพิเศษ จึงได้ลาอาจารย์พ่อออกแสวงหาอาจารย์ที่ทรงคุณวิเศษเพื่อศึกษาวิชา โดยออกเดินธุดงค์ไปจนถึงชายแดนไทย-เขมร ท่านได้พบ อาจารย์ที ชาวเขมรผู้เก่งกล้าด้านไสยเวทที่ศรีสะเกษ จึงฝากตัวเป็นศิษย์และได้ศึกษาวิชาการต่างๆ จนแตกฉาน
คืนหนึ่ง ณ บริเวณยอดเขาพระวิหาร ขณะที่อาจารย์เณรวิรัช ลุปต์ซ่านั่งสมาธิ จิตของท่านก็ได้พบกับพระจิตของ “องค์ธรรม” ซึ่งมีพระนามทางโลกว่า “องค์สมเด็จพระบรมครูท่านท้าวมหาพรหมธาดา” ซึ่งได้ทรงสั่งสอนธรรมะแห่งธรรมชาติอันแท้จริง เพื่อให้ท่านนำไปเผยแพร่ โดยทรงตรัสไว้เป็นปริศนาธรรมว่า
“พระองค์ย่อมแสดงให้ปรากฏซึ่งธรรมะแห่งธรรมชาติมาแล้วทุกยุคทุกสมัย เมื่อใดอธรรมรุ่งเรือง ธรรมะย่อมปรากฏ เพื่อปราบอธรรม”
ในปี พ.ศ.2502 หลังจากอาจารย์เณรวิรัช ลุปต์ซ่า สำเร็จถึง “ฌาน” อันเป็นจริงโดยธรรมชาติแล้ว ท่านจึงกลับมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดดอนยานนาวา กรุงเทพฯ และนำเรื่องของไสยศาสตร์มาแสดงให้ผู้คนได้เห็นเป็นรูปธรรม สั่งสอนและเผยแพร่ “องค์ธรรม” อันเป็นหัวใจของธรรมะ หรือ “ธรรมแห่งธรรมชาติอันแท้จริง”
อาจารย์เณรวิรัช ลุปต์ซ่า มีเมตตากรุณาต่อสาธุชนทุกผู้ทุกนามที่มีความเดือดร้อน โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ช่วยเหลือปัดเป่า ทั้ง ลง เสก เป่า เพื่อขจัดเรื่องร้ายต่างๆ ให้เบาบางหรือหมดไป ทั้ง โรคภัยไข้เจ็บ และภยันตรายต่างๆ จนชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือไกล แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่อายุของท่านสั้นนัก ท่านมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2509 อายุเพียง 19 ปีเท่านั้น
ก่อน อาจารย์เณรวิรัช ลุปต์ซ่า จะมรณภาพ ในปี พ.ศ.2508 ท่านได้สร้าง “เหรียญจักรเพชร” หรือ “เหรียญท้าวมหาพรหมธาดา” พร้อม “ผ้ายันต์” เพื่อแจกจ่ายแก่ศิษยานุศิษย์ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคปัจจัยเป็นทุนสร้างพระอุโบสถ วัดนาเหล่าน้ำ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ไว้สักการบูชาติดตัว โดยท่านได้บรรจุวิชาสำคัญครบเครื่อง ตั้งแต่เมตตามหานิยม แคล้วคลาด จนถึงคงกระพันชาตรี และสำเร็จด้วยพระเวทย์ต่างๆ ของ พรหมมา เทวา พุทธา โดยลงอักขระ เลขยันต์ มหามนต์ มหาสูตร ทั้งหลาย ประกอบพิธีประจุอิทธิฤทธิ์และบุญฤทธิ์ลงในเหรียญ พร้อมพิธีปลุกเสกตามหลักของพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์อย่างสมบูรณ์ ซึ่งได้มีการบันทึกเหตุการณ์และรายละเอียดของพิธีกรรมไว้ในหนังสือของ “สถานค้นคว้าสัจจะธรรม ปุรุโษตตมะ”
ที่มา : วัชรประดิษฐ์ , สยามรัฐออนไลน์, เหรียญจักรเพชร วัดดอน ยานนาวา, โพสต์ 12 พฤษภาคม 2563.








Copyright © 2019 Form Webmaster Amuletherritage.
กลับด้านบน